pdf pic

บทที่ 2

 

ch1 1

 

พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา

 

 

คำนำ

     ผมร้อนใจที่จะให้คำสอนรุดหน้า เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะให้ความจริงในเรื่องนี้ได้ถูกสอนออกไปโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ และความเชื่อที่ผิดๆจะได้สิ้นสุดลงโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้  แต่ในทางปฏิบัติ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำเสนอความจริงที่ให้ภาพทั้งหมดออกมาชัดเจนและเข้าใจง่าย

     ผมกำลังให้คุณเห็นทัศนียภาพทั้งหมด  ทัศนียภาพคือภาพมุมกว้างที่ผู้ดูสามารถกวาดสายตาไปได้ทั่วโดยไม่ต้องมาจดจ้องอยู่กับจุดหนึ่ง แล้วก็ไปอีกจุดหนึ่งและสงสัยว่ามันเชื่อมโยงกันอย่างไร  ถ้าวันนี้ผมเริ่มพิจารณาด้วยการวิเคราะห์แบบเป็นข้อๆ ข้อนี้ทีข้อโน้นที นั่นจะทำให้คุณสับสนเพราะคุณจะไม่รู้ว่ามันเชื่อมโยงกันอย่างไร  แต่โดยพระคุณของพระเจ้า ผมจะนำเสนอภาพกว้างๆให้เราได้พิเคราะห์ แล้วต่อมาเมื่อเราดูส่วนนี้และส่วนนั้นของภาพ เราก็จะรู้ว่ามันเข้ากันอย่างไร  

     คราวนี้ผมจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับส่วนสำคัญบางอย่างที่ผมเกริ่นไว้คราวก่อน  ในมุมมองแบบทัศนียภาพกว้างๆนั้น มีข้อสงสัยเกี่ยวกับพระคัมภีร์และศาสนศาสตร์บางประการ ที่ครั้งก่อนผมไม่ได้ขยายความไว้เพราะผมแค่วาดให้เห็นภาพกว้างๆ  แต่คราวนี้ผมจะดูบางประเด็นเหล่านี้และหลักการสำคัญของประเด็นเหล่านั้น

พระยาห์เวห์ทรงเป็นศูนย์กลาง

  ประเด็นแรกก็คือ พระยาห์เวห์ทรงเป็นศูนย์กลางที่แท้จริงของพระคัมภีร์เดิม  ในบทก่อนผมได้ชี้ให้เห็นว่าคำว่า “พระเจ้า” มีปรากฏประมาณ 2,500 ครั้งซึ่งน้อยกว่าคำว่า “ยาห์เวห์” ที่มีปรากฏเกือบ 7,000 ครั้งอยู่มาก  พระยาห์เวห์ทรงเป็นศูนย์กลางของพระคัมภีร์เดิมที่ไม่อาจปฏิเสธได้

     น่าเสียดายที่ไม่มีคำยาห์เวห์ในภาษาจีน  คำที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือ “เยเหอหัว” ซึ่งก็คือ เยโฮวาห์  “เยโฮวาห์” (“Jehovah”) เป็นคำผสมที่ไม่พบในต้นฉบับภาษาฮีบรู ที่จริงแล้วไม่ได้มีคำนี้จนกระทั่งศตวรรษที่ 16 เมื่อมีผู้ผสมคำขึ้นโดยรวมพยัญชนะจาก “ยาห์เวห์” กับสระจาก “อาโดนาย”

     ในพระคัมภีร์ภาษาจีนมีคำว่า “เยโฮวาห์” แม้ว่าจะไม่พบคำนี้ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษก็ตาม  พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษแปลคำว่า “ยาห์เวห์” (“Yahweh”) เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ “LORD” ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพระคัมภีร์ฉบับเซปทัวจินต์ที่แปลคำ “ยาห์เวห์” เป็น “คูริออส”[1](Lord)  

     เซปทัวจินต์คือพระคัมภีร์เดิมฉบับแปลเป็นภาษากรีกฉบับสำคัญสุด ที่กล่าวกันว่าแปลโดยคนเจ็ดสิบคน  คำว่า “เซปทัวจินต์” หมายถึงเจ็ดสิบ  ดังนั้นเซปทัวจินต์หรือที่เรียกกันว่า LXX[2]จึงเป็นงานแปลของคนเจ็ดสิบคน (แม้ว่านักวิชาการทั้งหลายจะไม่แน่ใจว่ามีผู้แปลทั้งหมด 70คนก็ตาม)  ฉบับเซปทัวจินต์แทนที่จะคงชื่อ “ยาห์เวห์” ไว้ แต่กลับแปลเหมือนว่ามันคือ “อาโดนาย” (Lord) เพื่อว่าทั้ง “ยาห์เวห์” และ “อาโดนาย” จะได้แปลว่า“องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord)  นี่สร้างความสับสนอย่างมากตลอดหลายศตวรรษ แม้ในลักษณะที่คำเฉพาะว่า “AdonaiYahweh” (LordYahweh) ถูกแปลเป็น “LordLORD” (ที่คำ “Lord” ซ้อนกัน ที่แปลว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า องค์ผู้เป็นเจ้า”)[3]

     พระยาห์เวห์ทรงเป็นศูนย์กลางของพระคัมภีร์เดิมอย่างแท้จริง แต่ในภาษาจีนเราไม่มีแม้แต่คำที่ถูกต้องสำหรับพระนามเฉพาะของพระเจ้า  หลังจากที่พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ดูเหมือนว่าการทับศัพท์คำว่ายาห์เวห์ ที่ดีที่สุดและถูกต้องที่สุดน่าจะเป็น “ย่าเหว่ย” (亚伟) ซึ่งพอจะใกล้เคียงกับ ยาห์เวห์” และก็ดีกว่า “เยเหอหัว” (耶和华) คำดั้งเดิมมาก  ความเป็นไปได้อย่างอื่นที่จะลดคำ “เยเหอหัว” มาเป็น “เยเหอ” (耶和) โดยเอา “หัว” () ออกไปนั้นก็ไม่เหมาะสม  นั่นเป็นเพราะ “หัว” มีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับประเทศจีนและมีความสำคัญกับคนจีน  แต่การเลือก “ย่าเหว่ย” (亚伟) มากกว่า “เยเหอหัว นั้นเราจะได้ภาพที่กว้างไกลกว่า คือจากประเทศจีนไปไกลจนทั่วทั้งเอเชีย จึงนำมาสู่การเปลี่ยนจาก “หัว” (จีน) มาเป็น ย่า” (เอเชีย)  [ข้อมูลปัจจุบัน: การแปลที่ดีกว่าสำหรับยาห์เวห์ตอนนี้คือ “หยาเหว่ย” (雅伟yǎwěi)]

     พระยาห์เวห์ทรงเป็นศูนย์กลางของพระคัมภีร์เดิมอย่างแท้จริง  ในพระคัมภีร์เดิมนั้นไม่มีใครอื่นเป็นพระเจ้านอกจากพระยาห์เวห์  ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ก็คือ คุณจะหาพระองค์ที่สองที่เป็นพระเจ้าไม่พบ และยิ่งจะไม่พบพระองค์ที่สามที่เป็นพระเจ้า[4]ในพระคัมภีร์เดิมเลย  นักวิชาการพระคัมภีร์เดิมทุกคนรู้ดีว่า คุณจะไม่พบสามพระองค์ที่เป็นพระเจ้าในพระคัมภีร์เดิม  มีพระเจ้าเพียงองค์เดียวในพระคัมภีร์เดิม และผมพูดอย่างนี้โดยไม่กลัวการโต้แย้งจากใครๆแม้แต่บรรดานักวิชาการชาวฮีบรูชั้นแนวหน้า (ผมได้เรียนกับนักวิชาการชาวฮีบรูที่มีชื่อเสียงมาก  อาจารย์ที่ดูแลผมคือศาสตราจารย์แอ็คครอยด์[5]ท่านเป็นนักวิชาการภาษาฮีบรูชั้นแนวหน้าคนหนึ่งในอังกฤษ)  แต่ไม่ว่าคุณจะมีมุมมอง ศาสนศาสตร์ในแบบไหน ผมก็กล้าพูดด้วยความมั่นใจที่สุดว่า ไม่มีพระองค์ที่สองหรือพระองค์ที่สามที่รวมอยู่ในพระเจ้า  มีแต่พระยาห์เวห์เดียวและพระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้นในพระคัมภีร์ฮีบรู

     ตอนนี้คุณเริ่มจะเล็งเห็นถึงปัญหาที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพเผชิญ เมื่อเขาเข้าไปค้นหาข้อความเกี่ยวกับความเชื่อตรีเอกานุภาพในพระคัมภีร์เดิมทั้งๆที่ไม่มีเลย และจะไม่พบแม้แต่ข้อเดียว  พระนามพระยาห์เวห์มีปรากฏเกือบ 7,000 ครั้งในพระคัมภีร์เดิมก็เพื่อกันไม่ให้ผู้อื่นใดเป็นพระเจ้า

ความตรงข้ามกันกับการสถิตอยู่ใกล้ของพระเจ้า 

      ประเด็นที่สองที่ผมพูดถึงคราวก่อนแต่ไม่ได้ขยายความก็คือ เรื่องเกี่ยวกับการสถิตอยู่ไกลโพ้นของพระเจ้า  ศาสนศาสตร์ของประเทศตะวันตกเชื่อว่าพระเจ้าสถิตอยู่ไกล  นี่เป็นแนวคิดแบบกรีกที่ดึงดูดบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพยุคแรกๆได้ง่าย พวกเขาส่วนใหญ่เป็นชาวกรีกแต่มีชาวยิวอยู่น้อยอย่างน่าตกใจ  เมื่อมาถึงช่วงสภาสังคายนาแห่งไนเซีย[6]ก็แทบไม่มีชาวยิวหลงเหลืออยู่ในคริสตจักรแล้ว  ผมไม่ทราบว่ามีผู้นำชาวยิวหลงเหลืออยู่ในคริสตจักรสักเท่าไรช่วงราวๆการประชุมแห่งไนเซียในศตวรรษที่สามและสี่  เนื่องด้วยพัฒนาการที่มีผลมากนี้ ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวจึงถูกขจัดทิ้งไป และความเชื่อว่ามีพระเจ้าหลายองค์ที่อำพรางตัวอยู่ก็เข้ามาและครอบงำคริสตจักร

     ในแนวคิดแบบกรีกเกี่ยวกับการสถิตอยู่ไกลโพ้นนั้นเชื่อว่าพระเจ้าทรงอยู่ห่างไกลจากโลกมากและถูกยกขึ้นสูงอยู่ในสวรรค์  ความคิดเช่นนี้แทนที่จะถวายเกียรติพระเจ้าแต่กลับให้ภาพว่าพระเจ้าไม่ทรงห่วงใยและไม่ยุ่งเกี่ยวกับโลกนี้

     จากการเข้าไปดูหลายเรื่องราวในพระคัมภีร์เดิมคราวก่อน ผมได้แสดงให้เห็นว่าแนวคิดเกี่ยวกับพระเจ้านี้ผิดไปอย่างสิ้นเชิง  พระเจ้าทรงดำเนินอยู่บนโลกนี้จริงๆ และอาดัมก็ได้ยินเสียงฝีเท้าของพระองค์  พระยาห์เวห์ไม่ได้ทรงดำเนินอย่างผีหรือร่างไร้วิญญาณที่ไม่มีเสียง  เราไม่ทราบลักษณะที่แน่ชัดของรูปร่างของพระองค์ แต่เป็นรูปลักษณะที่มีตัวตน  คุณสามารถสัมผัสพระองค์ได้ มองเห็นพระองค์ได้ และได้ยินพระองค์  เมื่อพระองค์ทรงดำเนินคุณสามารถได้ยินเสียงฝีเท้าของพระองค์

     แนวคิดที่พระเจ้าสถิตอยู่ใกล้นั้นความคิดแบบกรีกไม่สามารถจะเข้าใจได้  ตามความคิดแบบกรีกแล้วพระเจ้าทรงอยู่ไกลโพ้นในสวรรค์และไม่ค่อยจะสนใจโลกนี้  เหตุผลก็คือว่าตามความคิดแบบกรีกถือว่าโลกแห่งวัตถุเป็นสภาพที่ต่ำสุดของสิ่งที่ดำรงอยู่ และอันที่จริงแล้วเป็นที่ที่ความบาปและความชั่วอาศัยอยู่  

     เมื่อถึงศตวรรษที่สองประมาณ 100 ปีหลังจากช่วงสมัยของพระคริสต์มีคนหนึ่งที่ชื่อมาร์กิโอน[7]ได้ประกาศว่า พระเจ้าผู้ทรงสร้างโลกแห่งวัตถุนี้จะเป็นพระเจ้าที่แสนดีไปไม่ได้ เพราะโลกแห่งวัตถุเป็นสิ่งชั่วร้าย และไม่มีพระเจ้าที่แสนดีองค์ไหนจะทรงสร้างโลกที่เป็นวัตถุขึ้นมา  ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันนี้เองจึงถือว่าร่างกายของมนุษย์เป็นสิ่งไม่ดีเพราะเป็นวัตถุ และเป็นที่ที่ความบาปและความชั่วร้ายอาศัยอยู่  ดังนั้นจุดประสงค์ของความรอดก็คือการหลุดพ้นจากโลกวัตถุนี้

     แนวคิดแบบนี้อาจฟังดูแปลกๆสำหรับคุณ แต่มันเป็นแนวคิดที่ครอบงำความคิดของชาวกรีกในเวลานั้น  แนวคิดนี้เติบโตไปพร้อมๆกับการแพร่หลายของหลักคำสอนแบบนอสติก ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบันจากเรื่องรหัสลับดาวินชี[8]  ขณะนี้หลักคำสอนแบบนอสติกกำลังหวนกลับมาแพร่หลายอีกครั้ง โดยที่ร้านหนังสือในประเทศแคนาดาต่างก็มีหนังสือเกี่ยวกับคำสอนแบบนอสติกอยู่มากในสต๊อกของร้าน

     หลักคำสอนเกี่ยวกับความเชื่อแบบนอสติกคืออะไร?  พูดให้ง่ายก็คือ การรอดโดยความรู้ที่มาจากคำภาษากรีกว่า “γνῶσις” (gnōsis) ซึ่งหมายถึง “ความรู้”  ในความเชื่อแบบนอสติกนั้นคุณจะรู้ว่า gnōsis(โนซิส) คือความรู้ที่ลับเฉพาะของการหลุดพ้นจากโลกแห่งวัตถุนี้ และสูงขึ้นไปในชั้นของสรวงสวรรค์ จนกระทั่งคุณหลุดพ้นจากเงื้อมมือชีวิตนี้และเข้าไปสู่ชีวิตฝ่ายวิญญาณและไม่ใช่ชีวิตฝ่ายวัตถุ  สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อแบบกรีกว่า วัตถุมีความเลวร้ายอยู่ในตัว

     แนวคิดนี้มีผลที่มีอิทธิพลตามมามากมาย  หนึ่งในนั้นคือมุมมองที่แพร่หลายในคริสตจักร (และยังคงแพร่หลายในวงกว้างของคริสตจักรในปัจจุบัน) ว่าความสัมพันธ์ทางเพศนั้นไม่ดี (พูดอย่างเบาสุด) และยิ่งกว่านั้นแล้วยังบาปอีก (พูดอย่างแรงสุด)  เรื่องเพศถูกมองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการถูกผูกมัดอยู่กับโลกของวัตถุ  นั่นก็คือแนวคิดเบื้องหลังมุมมองที่บรรดาบาทหลวงคาทอลิกไม่ควรจะแต่งงาน

     ความเชื่อเรื่องการอุทิศตัวให้กับศาสนา[9]ก็เป็นผลอีกอย่างหนึ่งจากมุมมองแบบกรีกที่มีต่อโลกวัตถุ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้พระนักบวชหันจากโลกวัตถุที่มีความเสื่อมทรามเป็นที่ตั้งและเข้าถึงความบริสุทธิ์ของชีวิตฝ่ายวิญญาณในที่กันดารที่ห่างไกลจากความเจริญให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อชำระตัวเองให้บริสุทธิ์จากร่างกายเนื้อหนังของพวกเขา มีการถือศีลอดและการเฆี่ยนตีตัวเอง  พวกพระนักบวชจะอดอาหารและทุบตีตัวเองจนเลือดไหลเหมือนว่านี่เป็นการปลดปล่อยจากร่างกายนี้

     มาร์กิโอนพูดไปไกลถึงขนาดที่ว่า พระยาห์เวห์พระเจ้าของพระคัมภีร์เดิม เป็นพระเจ้าที่ชั่วร้าย และดังนั้นจึงเป็นพระเจ้าของพระคัมภีร์ใหม่ไม่ได้  สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าการแยกพระเจ้าของพระคัมภีร์เดิมกับพระเจ้าของพระคัมภีร์ใหม่ในคริสตจักรของคนต่างชาตินั้น จะต้องมาถึงขั้นที่คืบหน้าจนทำให้คำสอนแบบนี้เกิดขึ้นและแผ่ขยายไปทั่วคริสตจักร  ใครที่คุ้นกับประวัติศาสตร์คริสตจักรจะรู้ว่ามาร์กิโอนเป็นคนมีชื่อเสียง  เขาช่วยเสนอแนะความเชื่อแบบนอสติกของคริสเตียนความเชื่อแบบนอสติกนี้ได้พูดเป็นนัยไว้แล้วในพระคัมภีร์ใหม่ และคริสเตียนในยุคแรกได้ต่อสู้ในเรื่องนี้  ยอห์น 4:2-3 กล่าวว่า “โดยข้อนี้ พวกท่าน​​จะรู้จักพระวิญญาณของพระเจ้า คือทุกวิญญาณ​​ที่ยอมรับว่าพระเยซูคริสต์ได้ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ ก็มาจากพระเจ้า และทุกวิญญาณ​​ที่ไม่ยอมรับพระเยซู ก็ไม่ได้มาจากพระเจ้า  นี่เป็นวิญญาณที่เป็นปฏิปักษ์ของพระคริสต์ ซึ่งพวกท่านได้ยินว่าจะมา และขณะนี้ก็อยู่ในโลกแล้ว (ฉบับ ESV)[10]

     ตามความเชื่อของมาร์กิโอนและความเชื่อแบบนอสติกของคริสเตียนแล้ว พระเยซูไม่อาจมาบังเกิดเป็นมนุษย์ได้ เพราะพระเจ้าจะไม่ยอมให้ตัวพระองค์เองมาเปรอะเปื้อนโดยการเข้าไปในกายมนุษย์  พระเยซูไม่ได้ทรงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ พระองค์แค่มีรูปลักษณ์ของมนุษย์  พระเยซูมองดูเหมือนมนุษย์ทุกอย่าง และพูดเหมือนมนุษย์ แต่พระองค์ไม่ได้มีร่างกายเหมือนพวกเราจริงๆ  นี่คือหลักคำสอนแบบโดซีติก[11]ที่รู้จักกันดี (มาจากคำกรีกที่หมายถึง “มองดูเหมือน”) แต่ถ้าพระเยซูไม่ใช่มนุษย์แท้จริง พระองค์ก็ไม่อาจถูกตรึงบนกางเขนได้ และถ้าพระองค์ไม่ได้ถูกตรึงบนกางเขน พระองค์ก็ไม่อาจสิ้นพระชนม์จริงๆได้

     หลักคำสอนเหล่านี้อาจฟังดูแปลกสำหรับคุณ แต่เมื่อกลับไปเปิดหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์คริสตจักรหรือศาสนศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์เล่มไหนดูก็ได้ แล้วคุณจะเห็นว่าคำสอนนี้มีอิทธิพลมากเพียงใด  แนวคิดที่พระเจ้าสถิตอยู่ไกลสืบเนื่องมาจากความเชื่อพื้นฐานที่ว่า เนื้อหนังเป็นสิ่งไม่ดี ร่างกายเป็นสิ่งไม่ดี เรื่องเพศเป็นสิ่งไม่ดี และทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวัตถุเป็นสิ่งไม่ดี  แนวคิดเช่นนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากมุมมองของชาวฮีบรูว่า ทุกสิ่งในการทรงสร้างของพระเจ้านั้นดี  เมื่อพระเจ้าทรงสร้างทุกสิ่งเสร็จ พระองค์ทรงเห็นว่าการสร้างของพระองค์นั้น “ดียิ่งนัก” และไม่ใช่แค่ “ดี”  ตรงนี้เราจะเห็นความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการคิดแบบฮีบรูกับการคิดแบบกรีกที่เป็นคนต่างชาติ

     ร่างกายนั้นดี  เพศนั้นพระเจ้าเป็นผู้กำหนดขึ้น  ทุกสิ่งดีเพราะพระเจ้าทรงสร้างมาดี  มนุษย์อาจทำให้สิ่งที่พระเจ้าสร้างเสื่อมลง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแต่เดิมนั้นไม่ดี

     ความคิดเชิงปรัชญากรีกนั้นสนับสนุนแนวคิดเรื่องพระเจ้าทรงอยู่ไกล  นี่เป็นความคิดที่บรรดาบรรพบุรุษของคริสตจักรในยุคแรกๆ (บรรดาผู้นำคริสตจักรที่ไม่ใช่ชาวยิว) ถูกเลี้ยงดูมา

     พระคัมภีร์ปฐมกาลสนับสนุนแนวคิดเรื่องการสถิตอยู่ไกลไหม?  เราได้เห็นครั้งก่อนว่า อาดัมและเอวาได้ยินเสียงฝีเท้าของพระเจ้า  ก่อนหน้านั้นพระเจ้าได้ทรงปั้นมนุษย์ออกมาอย่างสวยงามจากดินด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง  พระองค์ยังทรงปลูกสวนอีกด้วย แล้วพระองค์ก็ยังทรงทำหน้าที่ของปุโรหิตในการฆ่าสัตว์และเอาหนังของมันมาทำเป็นเสื้อให้กับอาดัมและเอวาสวมใส่หลังจากที่พวกเขาทำบาป

     พระคัมภีร์ปฏิเสธความคิดแบบกรีกที่พระเจ้าสถิตอยู่ไกล แต่นี่เป็นข้อสนับสนุนสำคัญของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ  เพราะพระเจ้าถูกกล่าวถึงว่าสถิตอยู่ไกลโพ้น เราจึงจำเป็นจะต้องมีผู้ปรองดองที่ยืนอยู่ตรงกลาง ผู้ที่ส่วนหนึ่งเป็นพระเจ้าและส่วนหนึ่งเป็นมนุษย์  เมื่อถึงตอนที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพยึดครองพระคัมภีร์ใหม่นั้นพวกเขาก็ทำให้เนื้อความเสียหายไปหมด  ถึงแม้จะมีความจริงที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นศูนย์กลางของพระคัมภีร์เดิม แต่นั่นก็ยังไม่สามารถจะยับยั้งการทำให้พระยาห์เวห์หายไปจากพระคัมภีร์ใหม่ตามการแปลความของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพได้

     การที่มาร์กิโอนสามารถพูดได้ว่าพระเจ้าของพระคัมภีร์เดิม ไม่ใช่พระเจ้าของพระคัมภีร์ใหม่นั้นแสดงให้เห็นว่าภายในเวลา 100 ปีหรือมากกว่านั้นหลังจากช่วงสมัยของพระคริสต์ คริสตจักรได้ถูกครอบคลุมไปด้วยปรัชญากรีกมากเพียงใด  ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพช่วงสมัยการประชุมแห่งไนเซียไม่ได้ไปไกลขนาดนั้น และพวกเขาก็ปฏิเสธมาร์กิโอนอย่างถูกต้องว่าเป็นคนนอกศาสนา  พวกเขาแสวงหาทางสายกลางระหว่างความคิดแบบกรีกกับความคิดแบบฮีบรู แต่ที่น่าเศร้าก็คือ สุดท้ายแล้วพวกเขาได้เลือกเส้นทางที่กำหนดโดยความคิดแบบแรกและไม่ใช่แบบหลัง

     การคิดแบบนี้เป็นเหตุให้ไม่มี “พระยาห์เวห์” ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ใหม่  ถ้าคุณดูพระคัมภีร์ใหม่ คุณจะไม่เห็นการอ้างอิงถึงพระยาห์เวห์ เพราะฉบับเซปทัวจินต์ได้เอาพระนามของพระยาห์เวห์ออกไปจากพระคัมภีร์เดิมแล้วโดยใช้คำกลางๆแทนว่า “Lord” (องค์ผู้เป็นเจ้า)  เมื่อผมถามคุณว่าคุณอธิษฐานกับใคร คุณบอกว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” มีบางคนบอกว่า “พระบิดา” และมีบางคนบอกว่า “พระบุตร” นั่นคือความสับสนอย่างมาก  และเมื่อความเชื่อในตรีเอกานุภาพยึดครองพระคัมภีร์ใหม่จึงเกิดความสับสนไปหมด  เมื่อคุณพูดว่า “พระเจ้า” ไม่มีใครรู้ว่าคุณกำลังหมายถึงใคร

     โดยสรุปแล้ว ประเด็นแรกคือ พระยาห์เวห์ทรงเป็นศูนย์กลางของพระคัมภีร์เดิมอย่างแท้จริง  ประเด็นที่สองคือ แนวคิดแบบกรีกเรื่องที่พระเจ้าสถิตอยู่ไกลนั้นตรงกันข้ามกับคำสอนในพระคัมภีร์  พระยาห์เวห์สถิตอยู่ไกลจริง (แม้ว่าไม่ใช่ในความหมายแบบกรีก) แต่พระคัมภีร์ก็เน้นย้ำการสถิตอยู่ใกล้ของพระองค์มากกว่าการสถิตอยู่ไกลของพระองค์  พระองค์เสด็จลงมายังโลก และยิ่งกว่านั้นทรงใส่พระทัยแม้กระทั่งเส้นผมที่ร่วงจากศีรษะของคุณ

การกันพระเจ้าออกไป

     การที่ “พระยาห์เวห์” หายไปจากพระคัมภีร์ใหม่นั้น เราจึงให้พระเยซูเป็นจุดศูนย์กลางของพระคัมภีร์ใหม่  ความเชื่อในตรีเอกานุภาพถือว่าพระคัมภีร์ใหม่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่พระคริสต์[12]

     ผมมองย้อนกลับไปด้วยความกลัวที่ผม (และคนอื่นๆ) ได้ทำให้พระยาห์เวห์พระเจ้าเดียวและเพียงผู้เดียวองค์นี้หมดความสำคัญลง  ผมสงสัยว่าพระเจ้าจะทรงอภัยความผิดมหันต์ให้เราไหมที่บิดเบือนความจริงที่สำคัญดังกล่าวเกี่ยวกับพระองค์  พระเจ้าไม่ได้เป็นศูนย์กลางอีกต่อไป แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เราทุกข์ร้อน  ความสำคัญทั้งสิ้นอยู่ที่พระเยซู  เราให้ความสนใจกับการตั้งพระเยซูให้เป็นพระเจ้า  และถ้าพระเยซูเป็นพระเจ้า เราก็ไม่ต้องการพระบิดา  ทำไมคุณจึงต้องการพระบิดาด้วยในเมื่อคุณมีพระเจ้าในพระบุตรอยู่แล้ว?  คริสเตียนบางคนยังพูดถึงพระบุตรว่าเป็นพระบิดา ด้วยเหตุนี้พระบุตรก็คือพระบิดาและพระบิดาก็คือพระบุตร

     มันสำคัญไหมว่าเราจะเชื่อในตรีเอกานุภาพหรือไม่?  จงไตร่ตรองจากมุมมองของพระยาห์เวห์แล้วลองทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น  เรากำลังยกย่องพระเยซูเป็นจุดศูนย์กลางของการนมัสการแทนพระยาห์เวห์  พระเยซูทรงเป็น “ผู้ที่สำคัญที่สุด” ของเรา แม้ในการประกาศเป็นคริสเตียนของเรา  เราคำนึงถึงพระยาห์เวห์เพียงน้อยนิด แต่ให้พระเยซูเป็นศูนย์กลางที่แท้จริงในการนมัสการของเรา 

     ผมแปลกใจที่บางคนยังใส่ใจอย่างมากกับการยึดความเป็นพระเจ้าของพระเยซู  พวกเขาจะถามผมว่า “คุณหมายความว่าพระเยซูไม่ใช่พระเจ้าอย่างงั้นหรือ?”  เราใส่ใจกับการยกย่องพระเยซูมากกว่าและใส่ใจที่จะยกย่องพระยาห์เวห์ยังไม่ถึงครึ่งของพระเยซูหรือไม่?  ทำไมไม่มีใครมีใจจดจ่อ กับพระยาห์เวห์อีกต่อไป?  เราได้ทำอะไรไปกับองค์ผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเราหรือ?  เราต้องการจะพูดถึงแต่พระเยซูและร้องเพลงสรรเสริญพระองค์เท่านั้น

     ผมรู้สึกผิดอย่างมากในเรื่องนี้  ในฐานะที่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพตัวยงคนหนึ่ง ผมยังได้แต่งเพลงที่มีเนื้อความว่า “ข้ามอบทุกสิ่งแด่พระเยซู”  ทุกสิ่งนั้นเกี่ยวกับพระเยซู  วันก่อนผมได้ปรึกษากับเฮเลนว่าจะทำอะไรกับเพลงนี้ดี  ขอพระเจ้าทรงอภัยให้ผมด้วย  ผมไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับมันดี  เพลงที่ยกย่องบูชานี้ชี้ไปที่พระเยซู ไม่ใช่พระยาห์เวห์ พระเจ้าผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก  ในความคิดของเรานั้นพระเยซูทรงทำทุกอย่าง  พระองค์ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก และพระองค์ได้ทรงทำให้ความรอดของเราสัมฤทธิ์ผล  เช่นนั้นแล้วเราจะต้องการพระบิดาไปเพื่ออะไร?

     มันสำคัญไหมว่าเราจะเชื่อในตรีเอกานุภาพต่อไป?  มันจะสำคัญไหมในวันที่เรายืนอยู่ต่อพระพักตร์พระเจ้าผู้พิพากษาแห่งสวรรค์และโลก และยืนอยู่ต่อพระพักตร์พระเยซูคริสต์ผู้ที่พระเจ้าได้ทรงมอบหมายการพิพากษาไว้?  เราคิดว่าเรากำลังทำให้พระเยซูพอพระทัย แต่ผมนึกได้ด้วยความตกใจว่า เรากำลังทำสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างมากกับที่พระเยซูได้ทรงสอนไว้  คราวก่อนผมได้อ้างอิงมาระโก 12:29[13] ที่พระเยซูตรัสอ้างอิงจากเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 ว่าโอ คนอิสราเอล จงฟังเถิด พระยาห์เวห์ พระยาห์เวห์เท่านั้นทรงเป็นพระเจ้าของเรา[14] มีพระยาห์เวห์เดียวและเพียงผู้เดียว

     พระเยซูตรัสในข้อต่อมาว่า “และพวกท่านจงรักองค์​​ผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพระเจ้าของท่าน ด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน ด้วยสุดความคิดของท่านและด้วยสุดกำลังของท่าน” (มาระโก 12:30  ฉบับ ESV ที่พระเยซูตรัสอ้างอิงจากเฉลยธรรมบัญญัติ 6:5ข้อต่อมาว่า “ท่านจงรักพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านด้วยสุดจิตสุดใจและสุดกำลังของท่าน”)[15]

     พระเยซูทรงสอนให้เรารักพระยาห์เวห์ด้วยสุดใจสุดจิตของเรา สุดความคิดของเรา สุดกำลังของเรา  ในวันที่เรายืนอยู่ต่อพระพักตร์พระเยซู เราจะพูดกับพระองค์อย่างนี้หรือว่า “ข้าแต่พระเยซูองค์ผู้เป็นเจ้า ข้าพระองค์ก็แค่พยายามทำให้พระองค์พอพระทัย”  แล้ว “ทำไมเจ้าจึงไม่ฟังคำสอนของเรา?  ทำไมเจ้าจึงเรียกเราว่าองค์ผู้เป็นเจ้า องค์ผู้เป็นเจ้า แต่ไม่ได้ทำตามที่เราสอน?  เราได้บอกเจ้าแล้วว่า พระยาห์เวห์ผู้เดียวเท่านั้นที่เจ้าจะต้องรักด้วยสิ้นสุดทั้งหมดของตัวเจ้า”

     เมื่อผมกลับมาแคนาดาปีที่แล้วและหย่อนตัวลงบนเก้าอี้ ทันใดนั้นเหตุการณ์ในยอห์นบทที่ 6ก็สะกิดใจผม  พวกฝูงชนต้องการตั้งพระเยซูเป็นกษัตริย์ เป็นการกระทำที่อาจดูเหมือนจะถูกต้องอย่างที่ควรสำหรับเราและอาจรวมถึงเหล่าสาวกด้วย แต่พระเยซูจะไม่มีความคิดแบบนี้ พระองค์ไม่ทรงต้องการให้พวกเขาตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์ ดังนั้นพระองค์จึงทรงหลบไปจากพวกเขา[16]

     คุณต้องการให้พระเยซูเป็นกษัตริย์ในชีวิตของคุณไหม?  นั่นเป็นสิ่งที่ดี  แต่พระเยซูทรงต้องการเป็นกษัตริย์ในชีวิตของคุณเพราะเหตุผลที่คุณต้องการให้พระองค์เป็นกษัตริย์ไหม?  พระเยซูกำลังตรัสกับคนทั้งหลายว่า “เราไม่ได้แสวงหาเกียรติจากมนุษย์ ดังนั้นจงอย่าตั้งให้เราเป็นกษัตริย์  มีแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่เราต้องการถวายเกียรติ และผู้นั้นก็คือพระยาห์เวห์ พระบิดาของเรา”

     พระเยซูทรงตั้งมาตรฐานให้เราทำตาม  แต่เราก็คิดว่าเรากำลังทำให้พระองค์พอพระทัยด้วยการยกย่องพระองค์ให้เป็นศูนย์กลางและผลักไสพระบิดาของพระองค์ออกไป แม้เราจะยินดียกย่องพระบิดาแบบพอเป็นพิธีอยู่บ้าง  ในความเป็นจริงนั้น ความเชื่อในตรีเอกานุภาพไม่จำเป็นต้องมีพระเจ้า พระยาห์เวห์ เพราะพระเยซูทรงเป็นทุกสิ่งของเราแล้ว  แล้วโคโลสี 1:16 ไม่ได้กล่าวไว้หรือว่าพระเยซูทรงสร้างทุกสิ่ง?[17]

     ความคิดของเราถูกครอบงำอย่างมากด้วยความเชื่อในตรีเอกานุภาพ จนเราไม่เห็นความร้ายแรงในสิ่งที่เราได้ทำไป  นี่ไม่ใช่ความบาปเล็กๆ  เราจะถูกกล่าวโทษว่าไหว้รูปเคารพเพราะว่าเราได้ทำให้พระเยซูเป็นศูนย์กลางของการนมัสการ ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ได้สอนไว้ในพระคัมภีร์ใหม่

     ผมครุ่นคิดถึงเรื่องเหล่านี้วันแล้ววันเล่าเฝ้ามองที่องค์ผู้เป็นเจ้า  ตอนแรกผมมองไม่เห็นความร้ายแรงกับสิ่งที่ผมได้ทำในการสอนและส่งเสริมความเชื่อในตรีเอกานุภาพ  แต่ต่อมาผมก็เริ่มเห็นความจริงในเรื่องนี้  ในแง่หนึ่งผมก็ดีใจที่ได้เห็นความจริงนี้  แต่ว่าในอีกแง่หนึ่งผมก็เสียใจกับความผิดพลาดอันใหญ่หลวงของเรา  เราได้ทำสิ่งที่พระเยซูจะไม่ทรงพอพระทัยเมื่อวันที่เราพบพระองค์หน้าต่อหน้าว่า “ทำไมเจ้าจึงเรียกเราว่า องค์ผู้เป็นเจ้า องค์ผู้เป็นเจ้า?  เจ้าไม่ได้อ่านพระคัมภีร์หรือ?  เจ้าไม่ได้ยินสิ่งที่เราพูดแล้วพูดอีกในยอห์นหรอกหรือว่า เราไม่ได้มาเพื่อจะทำตามอำเภอใจของเราเอง แต่มาทำตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงส่งเรามา?”

     พระเยซูตรัสอย่างชัดเจนว่า “พระบิดาผู้ทรงพระชนม์อยู่ทรงส่งเรามา และเรามีชีวิตอยู่เพราะพระบิดาฉันใด ดังนั้นผู้ที่กินเราก็จะมีชีวิตอยู่เพราะเราฉันนั้น(ยอห์น 6:57 ฉบับ ESV)พระองค์ตรัสซ้ำๆถึงการพึ่งพาพระบิดาของพระองค์  ในทุกสิ่งที่พระเยซูทรงกระทำและตรัสนั้น เป็นพระบิดาผู้ทรงกระทำสิ่งเหล่านี้ในพระองค์

พระเจ้าเป็นศูนย์กลางของพระคัมภีร์ใหม่

     พระยาห์เวห์ทรงเป็นศูนย์กลางของพระคัมภีร์เดิม  นี่นำไปสู่สิ่งที่ผมจะกล่าวต่อไปก็คือ พระองค์ยังทรงเป็นศูนย์กลางของพระคัมภีร์ใหม่ด้วย  คำว่า “พระเจ้า” (theos) มีปรากฏ1,317ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ ในขณะที่พระนาม “เยซู” มีปรากฏ 917 ครั้ง หรือมีปรากฏน้อยกว่า 400ครั้ง

       เราสามารถจะพูดถึงพระเจ้าได้ทั้งวันและคิดว่าเรากำลังพูดถึงพระเยซู ในขณะที่ความจริงแล้วคำว่า “พระเจ้า” ในพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ (นอกเหนือจากพระเทียมเท็จ)[18] นั้นหมายถึงพระยาห์เวห์และไม่มีใครอื่นอีก  ผมพูดเรื่องนี้อย่างชัดๆโดยไม่กลัวนักวิชาการใดๆในโลกจะโต้แย้ง  แม้แต่นักวิชาการคนสำคัญอย่าง เอช เอ ดับบลิว มายเออร์[19] ก็ยอมรับว่าพระเยซูไม่เคยอ้างว่าเป็นพระเจ้า และพระคัมภีร์ใหม่ก็ไม่เคยกล่าวถึงพระองค์ว่าเป็นพระเจ้า

     ข้อพิสูจน์ทั้งหมดเกี่ยวกับความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์อยู่ที่พระคัมภีร์ใหม่สองตอนเป็นหลัก  ตอนแรกคือยอห์น 1:1-18 (คำขึ้นต้นของยอห์น) และอีกตอนก็คือฟีลิปปี 2:6-11  มีเพียงพระคัมภีร์สองตอนหลักๆนี้เท่านั้น  การให้หลักคำสอนทั้งหมดขึ้นกับพระคัมภีร์สองตอนนี้ (ซึ่งขัดแย้งกันและเป็นที่ถกเถียงกันในแง่ที่ว่า บรรดานักวิชาการไม่สามารถตกลงกันได้กับการตีความพระคัมภีร์สองตอนนี้) แสดงให้เห็นว่าพระคัมภีร์ใหม่ตามพื้นฐานความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นขาดน้ำหนักแค่ไหน

     เราได้เห็นว่า ประการแรก พระยาห์เวห์ทรงเป็นศูนย์กลางไม่เพียงแต่ในพระคัมภีร์เดิมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพระคัมภีร์ใหม่ด้วย

     ประการที่สอง ตามพระคัมภีร์แล้ว ความคิดแบบกรีกเรื่องการสถิตอยู่ไกลของพระเจ้านั้นเป็นเรื่องเท็จ พระเจ้าสถิตอยู่ไกลเหนือจักรวาลก็จริง แต่พระองค์ทรงเลือกที่จะสถิตอยู่ด้วย  เหนือสิ่งอื่นใด พระองค์ทรงเดินอยู่บนโลกกับอาดัม กับเอโนค กับอับราฮัม กับโมเสส และกับบรรดาผู้เผยพระวจนะ  และพระองค์ทรงหวังที่จะเดินไปกับเรา แต่ก็มีโอกาสอย่างนั้นน้อยเต็มทีเพราะเราได้ตัดสินใจที่จะเดินกับผู้อื่น นั่นก็คือพระเยซู  เราได้ให้พระบุตร (ผู้ที่ถูกส่งมา) มาแทนที่พระบิดา (ผู้ที่ส่งมา)  

     ประการที่สาม เราใช้คำว่า “พระเจ้า” อย่างกว้างๆจนไม่มีใครรู้ว่ามันหมายถึงใคร (ความสับสนนี้เป็นลักษณะของความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ที่มีพระหลายหลากมากมาย)  ถ้าคุณจะพูดว่า “พระเจ้า” โดยไม่ได้เจาะจงว่าคุณหมายถึงใคร ผมก็จะไม่รู้ว่าคุณกำลังหมายถึงใคร  คุณกำลังจะหมายถึงพระบิดา หรือว่าพระบุตร หรือว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือ?  หรือว่าทั้งสามพระองค์ หรือว่าแค่สองพระองค์?  คำว่า “พระเจ้า” กลายเป็นคำคลุมเครือมาก จนเราไม่รู้ว่าหมายถึงใคร

     ผมยังเห็นบางอย่างที่ตอกย้ำผมเต็มแรง  ความเชื่อในตรีเอกานุภาพจะคงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อรักษาความคลุมเครือนี้ไว้  ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่จะรับมือกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือ การยืนหยัดกับคำนิยามที่ถูกต้องของคำ โดยทำให้ชัดเจนว่าพระเจ้าหมายถึงอะไร  บางครั้งความเชื่อในตรีเอกานุภาพจะนิยามพระเจ้าว่าเป็นสสารและบางครั้งเป็นสามบุคคล  ความเชื่อในตรีเอกานุภาพจะคงอยู่ได้ก็โดยทำให้ความคลุมเครือในลักษณะนี้คงอยู่ต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่จะถูกปฏิเสธในศาลและถือว่าไม่เป็นที่ยอมรับตามกฎของภาษา  กฎหมายและภาษานั้นขึ้นอยู่กับการให้คำนิยามที่ชัดเจน  ดังนั้นถ้าคุณไม่ระบุด้วยซ้ำว่า “พระเจ้า” เป็นใคร  หรือถ้าคุณเปลี่ยนความหมายของ “พระเจ้า” ไปเรื่อยๆ ผมก็จะไม่รู้ว่าคุณหมายถึงอะไร 

     คำว่า “พระเจ้า” มีความหมายชัดเจนในพระคัมภีร์ เพราะมันหมายถึงพระยาห์เวห์ ซึ่งตรงข้ามกับบรรดาพระเทียมเท็จของอัสซีเรีย บาบิโลน หรือโรม  คำว่า “พระเจ้า” มักจะหมายถึงพระยาห์เวห์เสมอ ผู้เป็นพระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียว  พระเยซูผู้ยึดมั่นในพระเจ้าเพียงองค์เดียว  ทรงยอมรับพระเจ้าที่เที่ยงแท้องค์เดียวนี้ดังที่ตรัสว่า “และนี่​​คือชีวิตนิรันดร์ คือการที่พวกเขารู้จักพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักพระเยซูคริสต์ผู้ที่พระองค์ทรงใช้มา (ยอห์น 17:3ฉบับ ESV)  แต่เราได้ตัดสินใจที่จะใช้เส้นทางอื่น ที่ไปไกลขนาดให้พระเยซูเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งแทนที่พระยาห์เวห์

พระเจ้าทรงสื่อสาร

     คราวก่อนเราเห็นที่พระคัมภีร์พูดถึงพระเจ้าว่าทรงใส่พระทัยและทรงเมตตา  ฉบับแปลบางฉบับ เช่น ฉบับอิงลิชแสตนดาร์ด (ESV) บอกถึงความปรานีของพระเจ้าด้วยคำที่สวยงามว่า “ความรักมั่นคง” เป็นความรักที่คงอยู่จริงและมั่นคง  แต่ในความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว พระเยซูเป็นผู้ที่อยู่ใกล้มาก และพระเจ้าต่างหากที่อยู่ห่างไกลและอยู่ไกลลิบซึ่งเป็นอีกหนึ่งความเท็จอีกอย่างหนึ่งที่เราได้ทำให้มันมีอยู่ต่อไปตลอดกาล  ความจริงในพระคัมภีร์ก็คือ พระเจ้าทรงอยู่ใกล้มาก และพระองค์ก็ยังคงทรงอยู่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ เมื่อเรามาถึงพระคัมภีร์ใหม่

     คราวก่อนเราได้เห็นตัวอย่างความรักและความใส่พระทัยของพระเจ้า และความปรารถนาของพระองค์ที่จะสื่อสารกับเรา  ในปฐมกาลและที่จริงในพระคัมภีร์เดิม พระยาห์เวห์ตรัสกับผู้คนอย่างต่อเนื่อง  การสื่อสารขึ้นอยู่กับสิ่งที่สำคัญมากซึ่งก็คือถ้อยคำ  ถ้อยคำเป็นเครื่องมือเดียวของการสื่อสาร  ถ้าคุณกับผมไม่ได้ใช้ภาษาเดียวกัน เราก็จะไม่สามารถสื่อสารกันได้

     พระคัมภีร์ทั้งเล่มเป็นการสื่อสารของพระเจ้ากับเรา นั่นเป็นเหตุที่เรียกพระคัมภีร์ว่าพระคำของพระเจ้า  พระคัมภีร์เดิมบรรจุถ้อยคำของพระเจ้า เป็นการสื่อสารของพระเจ้าในสามรูปแบบ  รูปแบบแรกคือบทบัญญัติ  รูปแบบที่สองคือคำประพันธ์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คำประพันธ์แห่งปัญญา” หรือหนังสือคำสั่งสอนด้วยปัญญา  รูปแบบที่สามคือ การเผยพระวจนะและการเปิดเผย บทบัญญัติ คำประพันธ์ การเปิดเผย ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับพระคำของพระเจ้าและการสื่อสารกับเรา

     พระคัมภีร์ใหม่ก็มีสามส่วนเช่นกันคือ พระกิตติคุณ จดหมาย และวิวรณ์  ส่วนกิจการนั้นถูกจัดอยู่ในกลุ่มพระกิตติคุณทั้งสี่ เพราะลูกาและกิจการเดิมทีแล้วเป็นเล่มเดียวกัน ไม่ได้แยกเล่มอย่างที่มีในพระคัมภีร์ของเราทุกวันนี้

     พระคัมภีร์ใหม่จึงเริ่มด้วยหนังสือห้าเล่ม คือพระกิตติคุณสี่เล่มและกิจการ ซึ่งเหมือนกับห้าเล่มแรกของพระคัมภีร์เดิมที่เรียกว่าเบญจบรรณ[20]

     ลำดับของพระกิตติคุณที่เรามีในทุกวันนี้ไม่ใช่ลำดับดั้งเดิม  บรรดานักวิชาการพระคัมภีร์ใหม่ก็ยอมรับว่ามาระโกเป็นพระกิตติคุณเล่มแรก แต่พระคัมภีร์ของเรามีมัทธิวเป็นพระกิตติคุณเล่มแรก  ตามข้อสันนิษฐานทางเอกสารแล้ว (ซึ่งผมจะไม่กล่าวถึง) มาระโกเป็นพระกิตติคุณลำดับแรกที่มัทธิวและลูกาได้ใช้เป็นเนื้อหาของพวกเขา

     รายชื่อหนังสือเล่มต่างๆในพระคัมภีร์ใหม่[21]ที่ได้รับการเห็นชอบจากคริสตจักรให้บรรจุเป็นพระคัมภีร์ใหม่ได้ถูกจัดเรียงลำดับที่ค่อนข้างตามอำเภอใจ  ผมยังติดใจว่าในแผนการศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้านั้น พระกิตติคุณยอห์นควรจะเป็นหนังสือเล่มแรกของพระคัมภีร์ใหม่  ถ้าเป็นเช่นนั้น พระคัมภีร์ใหม่ก็จะเริ่มต้นเหมือนกับพระคัมภีร์เดิม  พระคัมภีร์ใหม่ก็จะขึ้นต้นว่า “ในปฐมกาลพระวาทะดำรงอยู่” ซึ่งตรงกับคำเริ่มต้นของปฐมกาลที่ว่า “ในปฐมกาลพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดิน”

     มันเป็นเรื่องสมเหตุสมผลอย่างยิ่งที่จะให้ยอห์นเป็นหนังสือเล่มแรกของพระคัมภีร์ใหม่ ไม่ใช่เพียงเพราะยอห์นเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจพระคัมภีร์ใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะในพระคัมภีร์ที่เรามีทุกวันนี้ได้แทรกยอห์นไว้ระหว่างลูกากับกิจการ ทำให้สองเล่มนี้ขาดความเชื่อมต่อกัน  การจัดเรียงที่เราเสนอให้กับพระกิตติคุณทั้งสี่เล่มคือ ยอห์น มัทธิว มาระโกและลูกา โดยให้ลูกาอยู่ติดกับกิจการ

     เห็นได้ชัดว่าคริสตจักรในยุคแรกมองไม่เห็นว่าพวกเขาได้แยกลูกากับกิจการซึ่งเป็นสองเล่มที่ควรอยู่ด้วยกันให้ออกจากกันโดยไม่จำเป็น โดยแทรกยอห์นไว้ตรงกลาง  ถ้าจัดยอห์นให้อยู่อันดับแรก มันก็ไม่ทำให้โครงสร้างของพระกิตติคุณเสียหาย ความจริงแล้วนี่จะทำให้พระคัมภีร์เดิมกับพระคัมภีร์ใหม่มีความคล้ายคลึงกันมากขึ้น  แต่คริสตจักรไม่ได้สมบูรณ์แบบ และนี่ไม่ใช่ความผิดพลาดเดียวที่คริสตจักรได้ทำไป และแน่นอนว่าไม่ใช่ความผิดพลาดร้ายแรงที่สุด 

ถ้อยคำของพระเจ้า

     ถ้อยคำเป็นเครื่องมือเดียวที่พระเจ้าทรงสื่อสารกับเรา  นี่ก็เป็นจริงเช่นกันในแวดวงของมนุษย์ด้วย เพราะเราไม่สามารถจะสื่อสารต่อกันได้นอกจากจะผ่านทางถ้อยคำ  เมื่อพิจารณาเรื่องนี้ เราจะดูปฐมกาล 15 คร่าวๆ ซึ่งเราจะพบตัวอย่างแรกของ “ถ้อยคำของพระเจ้า” ในพระคัมภีร์  นี่จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับพระคัมภีร์ตอนนี้ เพราะมันไม่ค่อยจะเข้ากับแบบแผนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ 

     ผมไม่เคยเห็นคำอธิบายของ “ถ้อยคำ” หรือ “คำตรัส” (the Word)[22] ในยอห์น 1:1 อ้างไปที่ปฐมกาลบท 15 ที่มี “ถ้อยคำ” (word) ปรากฏครั้งแรกในพระคัมภีร์  ปฐมกาล 15:1 กล่าวว่า “ภายหลังสิ่งเหล่านี้​ พระดำรัสของพระเจ้า (พระยาห์เวห์) ก็มาถึงอับรามทางนิมิตว่า อับรามเอ๋ย อย่ากลัวเลย เราเป็นโล่ของเจ้า บำเหน็จของเจ้าจะมากมายนัก” (ฉบับNASB)[23]

     ในต้นฉบับฮีบรูของข้อนี้คำ “พระดำรัส” (the word) คือ “hadebarim” ซึ่งเป็นพหูพจน์ของ “dabar[24] เป็นคำภาษาฮีบรูทั่วไปของ “ถ้อยคำ” (word)  พระคัมภีร์ฉบับเซปทัวจินต์แปลdabar” เป็นคำกรีกตามใจชอบที่บางครั้งก็แปลเป็น logos” และบางครั้งก็แปลเป็น “rhēma[25] ในปฐมกาล 15:1 พระคัมภีร์ฉบับเซปทัวจินต์แปล dabarเป็น rhēma(หรือ rhēmata,the words)

     คำตรัสของพระยาห์เวห์มาถึงอับราฮัมทาง “นิมิต” และไม่จำเป็นจะต้องเป็นเสียง  สิ่งแรกและสิ่งสำคัญที่สุดคือนิมิตที่อับราฮัมได้เห็นบางสิ่ง  เราไม่รู้ลักษณะที่ชัดเจนของการเห็นนี้ แต่อับราฮัมได้เห็นคำตรัสของพระยาห์เวห์  คำตรัสของพระเจ้าเป็นการเปิดเผยพระองค์เองเสมอ  ในกรณีนี้พระยาห์เวห์ทรงเปิดเผยพระองค์เองกับอับราฮัมเหมือนดั่งโล่ของอับราฮัม ที่จะปกป้องและประทานบำเหน็จให้กับเขา

       ข้อ 4 ยังพูดถึงคำตรัสของพระยาห์เวห์ด้วยว่า “ดูเถิด พระดำรัสของพระเจ้า [พระยาห์เวห์มาถึงอับรามว่า...”[26]  ตรงนี้ “พระดำรัสของพระยาห์เวห์” คือ dabar Adonai(דְבַר־יְהוָ֤ה)เราเห็นคำdabar(דָּבָרอีก ซึ่งเป็นคำภาษาฮีบรูทั่วไปของ “ถ้อยคำ”  คำว่า dabar Adonai เป็นการผูกคำที่เชื่อมด้วยยติภังค์คือขีดด้านบน (-)

       แต่ตรงนี้คำแปลภาษากรีกของ dabar ไม่ใช่ทั้ง logosหรือ rhēma  ข้อความภาษากรีกกล่าวว่าκαὶ εὐθὺς φωνὴ κυρίου ἐγένετο πρὸς αὐτὸν λέγων(“และทันใดนั้นพระสุรเสียงขององค์ผู้เป็นเจ้าก็มาถึงเขาว่า...”)  “คำตรัส” (dabar) ตรงนี้ได้ถูกแปลเป็น “เสียง” (fwnh,) และAdonai ถูกแปลเป็น κύριος(“Lord”) ในรูปของสัมพันธการก

       คำ “πρὸς(พรอส) ตรงนี้มีความหมายว่า คำตรัสของพระยาห์เวห์มา “ถึงเขา” หรือ “อ้างอิงถึงเขา” แต่ไม่ใช่ “กับเขา” (πρὸςยังใช้ในยอห์น 1:1 ด้วยใน “พระวาทะอยู่กับพระเจ้า [πρὸς τὸν θεν] ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จะมีความสำคัญเมื่อเราดูยอห์น 1:1  ในภายหลัง)

     ครั้งนี้คำตรัสของพระยาห์เวห์มาถึงอับราฮัมโดยไม่ได้อ้างถึงว่าเป็นนิมิต (แม้จะยังอาจเกี่ยวโยงกับนิมิตเดิมในข้อ 1) แต่เป็นเสียงว่า “พระดำรัสของพระยาห์เวห์มาถึงอับรามว่า...”  ดังนั้นคำตรัสของพระยาห์เวห์จึงสามารถมาทางนิมิตหรือทางเสียงก็ได้

พระเจ้าเสด็จกลับมายังโลก

     เรากำลังเคลื่อนไปตามเส้นโคจร  ในวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับจรวดแล้ว เส้นโคจรคือเส้นทางที่จรวดจะวิ่งไป  เส้นโคจรนี้สามารถคำนวณทางคณิตศาสตร์และวาดเป็นเส้นกราฟได้  มันจะให้ข้อมูลเช่นว่าทิศทางของการวิ่งและตำแหน่งที่ลง  คุณสามารถจะคำนวณความเร็วตรงจุดไหนก็ได้ของเส้นโคจร

       คราวก่อนที่ให้ทัศนียภาพกว้างๆนั้นผมได้ร่างภาพให้เห็นช่วงแรกของการโคจร  ถ้าคุณไม่เห็นทัศนียภาพทั้งหมด คุณก็จะไม่รู้ว่าการโคจรมุ่งหน้าไปทางไหนและจะตรวจสอบส่วนนี้หรือส่วนนั้นของการโคจรไม่ได้  ผมได้ร่างส่วนเริ่มต้นของการโคจรให้คุณเห็นว่ามันกำลังมุ่งหน้าไปทางไหน  เราได้เห็นในพระคัมภีร์เดิมว่าพระเจ้ากำลังอยู่ห่างออกไปไกลทุกที  ในหนังสือปฐมกาลนั้นจรวดยังคงอยู่บนพื้นดิน แต่หลังจากนั้นพระเจ้าก็ยิ่งห่างไปไกลขึ้นไกลออกไปเรื่อยๆ  เมื่อมาถึงหนังสืออิสยาห์ พระเจ้าก็ได้ทรงถูกยกขึ้นสูงในฟ้าสวรรค์เสียแล้ว

     เอเสเคียลมีนิมิตเกี่ยวกับพระยาห์เวห์ที่ดูเหมือนราชรถ  ในคำสอนของรับบีจะเรียกนิมิตนี้ว่า “เมอร์กาบาห์”[27]  เมอร์กาบาห์ มาจากคำภาษาฮีบรูว่า “รถรบ”  ดังนั้นจึงเป็นนิมิตของรถรบ  ผู้ถืออาคมชาวยิวจะเห็นสิ่งลี้ลับมากมายในนิมิตนั้น แต่เราจะไม่เข้าไปในรายละเอียดเรื่องนี้  สิ่งที่เราเห็นก็คือการโคจรนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ และดูเหมือนพระยาห์เวห์จะยิ่งห่างจากเราไปไกลขึ้นเรื่อยๆ

     คุณอาจกำลังคิดว่า ถ้าพระเจ้าเสด็จไปไกลขึ้นเรื่อยๆ แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไรหรือ?  จรวดก็น่าจะเลี้ยวโค้งกลับลงมา  พระเจ้ากำลังเสด็จกลับมายังโลก!  อิสยาห์เป็นผู้เผยพระวจนะถึงการเสด็จกลับมาสู่โลกครั้งสำคัญของพระยาห์เวห์  และในอิสยาห์ 40 เราได้ยินเสียงร้องในถิ่นทุรกันดารว่า จงเตรียมทางของพระเจ้า![28]  การโคจรกำลังจะลงมา!  ทำไมคุณจะต้องเตรียมทางด้วย ถ้าไม่ใช่เพราะว่าพระองค์กำลังเสด็จกลับมา?  และมนุษย์ทุกคนจะเห็นพระสิริของพระเจ้า

     นอกจากนี้เรายังมีคำกล่าวที่น่าประหลาดใจเช่น อิสยาห์ 7:14 ว่า ฉะนั้น องค์ผู้เป็นเจ้าเองจะประทานหมายสำคัญแก่ท่าน  ดูเถิด หญิงพรหมจารีจะตั้งครรภ์ และให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง และ​​จะเรียกนามของท่านว่า อิมมานูเอล” (ฉบับ ESV) ข้อนี้ถูกอ้างอิงในมัทธิว 1:23 ที่เกี่ยวโยงกับการประสูติของพระเยซู

       คราวก่อนเราได้พูดถึงอิสยาห์ 9:6 ว่า “มีเด็กคนหนึ่งเกิดมาเพื่อเรา มีบุตรชายคนหนึ่งประทานมาให้เรา และการปกครองจะอยู่บนบ่าของท่าน และเขาจะเรียกนามของท่านว่า ที่ปรึกษามหัศจรรย์ พระเจ้าผู้ทรง​​ฤทธิ์ พระบิดานิรันดร์ องค์สันติราช” (ฉบับ ESV)

      “อิมมานูเอล” หมายถึง “พระเจ้าทรงอยู่กับเรา”  คำฮีบรู “อิมมานูเอล” นี้ประกอบด้วยคำสองคำ (עִמָּנוּ אֵל) นขณะที่ภาษาอังกฤษและภาษากรีกมีคำเดียว (ImmanuelและἘμμανουήλ) คำฮีบรูคำแรก “อิมมานู” (Im’anu, עִמָּנוּ) หมายถึง “อยู่กับเรา” และคำที่สอง “เอล” (El, אֵל) หมายถึง “พระเจ้า”  รวมกันแล้วหมายถึง “พระเจ้าทรงอยู่กับเรา”

       ในพระคัมภีร์เดิมพระเจ้าคือพระยาห์เวห์ และพระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้า  พระเจ้าจะเสด็จลงมายังโลกเพื่ออยู่กับเราผ่านทางผู้ที่จะเกิดมาจากหญิงพรหมจารี  การโคจรกลับมายังโลกในการเกิดจากหญิงพรหมจารี

       เราเข้าใจ “พระบิดานิรันดร์” ในอิสยาห์ 9:6 อย่างไร?  ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนำมาใช้อย่างเสรีกับพระเยซู แต่ถ้าพระเยซูทรงเป็นพระบุตร แล้วเราจะให้เป็นพระบิดาได้อย่างไร?  เมื่อเราเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอยู่นั้น ปัญหาเช่นนี้ไม่ได้กวนใจเราเลย เพราะถ้าพระเยซูเป็นพระเจ้า ฉะนั้นข้อไหนที่ใช้กับพระเจ้าก็ใช้กับพระเยซูด้วย  แต่จะมีปัญหาในเรื่องนี้แม้ในข้อสรุปของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเองก็ไม่ได้เรียกพระเยซูว่าพระบิดา และพระเยซูก็ไม่ใช่พระบิดา แต่นั่นก็ไม่ได้กวนใจเราที่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ แม้ว่านี่จะไม่เป็นความจริงตามพระคำของพระเจ้าก็ตาม

     นักวิชาการบางคนเลี่ยงปัญหานี้โดยกล่าวว่าชื่อเรียกต่างๆในอิสยาห์9:6 นั้นไม่ได้อ้างถึงพระเจ้าแต่อ้างถึงมนุษย์ที่จะเกิดมา  “พระบิดานิรันดร์” หมายความว่ากษัตริย์ที่เป็นมนุษย์นี้จะเป็นบิดาแห่งราชอาณาจักรของพระองค์เอง  และเพราะว่าราชอาณาจักรของพระองค์ดำรงอยู่นิรันดร์ พระองค์จึงเป็นพระบิดานิรันดร์  ส่วนชื่อเรียกพระเจ้าอย่างเช่น “พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์”พวกเขาชี้ให้เห็นว่าแม้แต่พระเยซูก็ได้ตรัสไว้ว่า

       “ในบทบัญญัติของท่านมี​​เขียนไว้ไม่ใช่หรือว่า ‘เราบอกว่าพวกท่านเป็นพระ[29]’?  ถ้าคนที่รับพระวจนะของพระเจ้าได้ชื่อว่าเป็นพระ...”  (ยอห์น 10:34-35ฉบับ ESV)

           การตีความที่ชื่อเรียกดังกล่าวไม่ได้หมายถึงพระเจ้าแต่จะหมายถึงกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ซึ่งกำลังจะเสด็จมานี้ เป็นที่ชื่นชอบของนักวิชาการพระคัมภีร์เดิมหลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการเสรี

     แต่ถ้าเราให้ “อิมมานูเอล” หมายถึงว่า พระเจ้าจะเสด็จลงมาอยู่กับเราทางการประสูติของพระเยซูและในองค์พระเยซู แล้วจะเป็นปัญหาอะไรหรือ?  ในพระคัมภีร์เดิมนั้นพระยาห์เวห์ทรงเป็นพระบิดาอย่างไม่ต้องสงสัย  เฉลยธรรมบัญญัติ 32:6 กล่าวว่า  “พระองค์ (พระยาห์เวห์) ไม่ใช่พระบิดาของพวกท่าน ผู้ทรงสร้างท่านและสถาปนาท่านไว้หรือ?”  หรือสดุดี 68:4-5 กล่าวว่า “จงยกย่องพระองค์ผู้ทรงเมฆเป็นพาหนะ พระนามของพระองค์คือพระยาห์เวห์  จงลิงโลดเฉพาะพระพักตร์พระองค์ทรงเป็นพระบิดาของลูกกำพร้า...  แนวคิดที่พระยาห์เวห์เป็นพระบิดานั้นมีรากฐานมาจากพระคัมภีร์เดิม และไม่ใช่สิ่งใหม่ในพระคัมภีร์ใหม่

       ในเยเรมีย์ 3:4 พระยาห์เวห์ถูกเรียกว่า “พระบิดาของข้าพระองค์”  มันน่าสนใจที่แม้แต่ “คนโง่เขลาและคนเบาปัญญา” ก็เรียกพระองค์ว่าพระบิดา  คนเหล่านี้ไม่ได้เคร่งครัดในศาสนาเป็นพิเศษและในบางแง่ก็คล้ายกับผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคริสเตียนในสมัยนี้ ที่ไม่ลังเลที่จะอธิษฐานว่า “พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์”  ในสมัยของเยเรมีย์นั้น คนอิสราเอลทั้งผู้ที่เคร่งศาสนาและไม่เคร่งศาสนาจะเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” กันเป็นปกติ

     คุณเห็นไหมว่าการโคจรกำลังมุ่งหน้าไปทางไหน?นอกจากนี้ยังมีมีคาห์ 5:2[30]ที่พูดถึงผู้ปกครองของอิสราเอลซึ่งจะออกมาจากเบธเลเฮม เอฟราธาห์ (ถ้อยคำที่มักจะเห็นในบัตรอวยพรคริสต์มาส)

“โลกอส” (Logos) จากยอห์น1:1

     คำนี้มีความหมายกับเราอย่างไร?  ยอห์น 1:1 กล่าวไว้ว่า “ในปฐมกาลพระวาทะ (logos)[31]ทรงดำรงอยู่ และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า (πρὸς τὸν θεν) และพระวาทะทรงเป็นพระเจ้า  ผมจะยังไม่พูดถึงการใช้หลักภาษากรีกแต่จะดูอย่างกว้างๆอีกครั้ง  ผมใช้เวลาหลายวันและหลายสัปดาห์ในการตรวจสอบพระคัมภีร์ตอนนี้และศึกษาคู่มืออธิบายพระคัมภีร์ต่างๆในเรื่องนี้

     เจมส์ ดัน[32] ให้รายละเอียดกับแนวคิดเกี่ยวกับ “logosในรายละเอียดบางอย่าง  ถ้าคุณอ้างถึงพจนานุกรมพระคัมภีร์หรือสารานุกรมพระคัมภีร์ สุดท้ายแล้วคุณจะพบความสับสนมากมาย   นั่นเป็นเหตุที่ทำไมผมจึงใช้เวลามากในการตรวจสอบเรื่องนี้

     ลองดูข้ออ้างอิงที่โยงถึงกันในพระคัมภีร์ของคุณ และดูว่าข้ออ้างอิงเหล่านั้นให้ข้อมูลอ้างอิงถึงคำ “logos” สักหนึ่งข้อในพระคัมภีร์เดิมหรือไม่  ถ้าคุณมีระบบข้ออ้างอิงที่โยงถึงกันอย่างละเอียดในพระคัมภีร์หรือเครื่องมือศึกษาพระคัมภีร์ของคุณ  คุณอาจพบข้ออ้างอิงถึงสดุดี 33:6 “โดยพระดำรัสของพระเจ้า (พระยาห์เวห์) ฟ้าสวรรค์ก็ถูกสร้างขึ้น​ และบริวารทั้งปวงมีขึ้นโดยลมพระโอษฐ์ของพระองค์(ฉบับ ESV)

     แต่สดุดี 33:6 ไม่ได้ช่วยอะไรมากในการตีความของความเชื่อแบบตรีเอกานุภาพจากยอห์น 1:1-3  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าตรงนี้พูดถึงการสร้างฟ้าสวรรค์ไม่ใช่การสร้างโลก  ข้อต่อมา (ข้อ7) พูดถึงการรวบรวมน้ำทะเล แต่ก็ไม่มีการอ้างอิงถึงการสร้างโลกในนั้น

     ไม่มีตัวอย่างในพระคัมภีร์เดิมมาก่อนที่ “logosสนับสนุนความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ยิ่งกว่านั้นแนวคิดว่า “logos” เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่แยกจากพระยาห์เวห์นั้นไม่มีอยู่ในพระคัมภีร์เดิม  ถ้าเช่นนั้นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะหันไปพึ่งอะไรในเมื่อพระคัมภีร์เดิมไม่มีตัวอย่างสำหรับ “logosมาก่อนว่าเป็นบุคคล?  ปรัชญากรีกจึงเป็นทางหนึ่งที่เป็นไปได้ และแท้จริงแล้วบรรดานักวิชาการที่เชื่อในตรีเอกานุภาพตระหนักดีว่าในปรัชญากรีก (เช่น ปรัชญากรีกแบบสโตอิก)[33] มีแนวคิดเกี่ยวกับ “logosว่าเป็นหลักการที่มีเหตุผลซึ่งควบคุมทุกสิ่งในการสร้าง  แต่ทว่าความพยายามที่จะนำ “logos” มาใช้กับพระเยซูนั้นไม่สามารถคัดค้านได้ เพราะในปรัชญากรีก “logosไม่ใช่สิ่งมีชีวิต แต่เป็นหลักการ  ยิ่งกว่านั้นมันก็เป็นไปไม่ได้เลยที่ยอห์นผู้เป็นยิวที่เคร่งครัดกับการเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวซึ่งมีรากฐานมาจากพระคัมภีร์เดิม จะรับเอาความคิดเกี่ยวกับ “logos มาจากปรัชญากรีก

     เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะทำอย่างไรต่อไปหรือ?  เห็นทีว่าไฟโล[34]นักปรัชญาชาวยิวอาจช่วยได้  เขาสนับสนุนความเชื่อว่า “logos” เป็นพระเจ้าชั้นรองลงมา หรือเป็นพระที่ไม่เท่าเทียมกับพระเจ้าแม้ว่าอาจจะสูงกว่าทูตสวรรค์เพียงเล็กน้อย  “logos” นี้ยังมีส่วนร่วมในการสร้างอีกด้วย ไฟโลมีแนวโน้มที่จะผสมผสานแนวคิดแบบกรีกกับแนวคิดของพระคัมภีร์เดิมภาษาฮีบรู คงด้วยจุดประสงค์ที่จะเปลี่ยนชาวกรีกให้มาเชื่อตามความเชื่อของยิว  วิธีการของเขาก็คือนำเสนอศาสนายิว[35]ในลักษณะที่ชาวกรีกยอมรับได้และเน้นว่าศาสนายิวมีสิ่งที่เหมือนกับปรัชญากรีก “Logos” ที่เป็นพระเจ้าหรือกึ่งพระเจ้านั้นควรที่พวกกรีกซึ่งเชื่อถือในพระเจ้าหลายองค์พอจะยอมรับได้  เพราะจะมีพระเจ้าอีกสักองค์หนึ่งก็ไม่เป็นปัญหาอะไร  ดังที่เปาโลบอกถึงสภาพการณ์ของการเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ในสมัยของเขาว่า    

     เพราะแม้จะมี​​สิ่งที่เขาเรียกกันว่าพระเจ้าในสวรรค์และบน​​โลก ซึ่งที่จริงมี “พระเจ้า” มากมายและ “องค์​​ผู้เป็นเจ้า” มากมาย แต่สำหรับเรานั้นมีพระเจ้าองค์เดียวคือพระบิดา ที่ทุกสิ่งเกิดมาจากพระองค์และเรามีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์ และมีพระเยซูคริสต์องค์​​ผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ที่ทุกสิ่งเกิดมาโดยทางพระองค์และเราก็เป็นมาโดยทางพระองค์  (1 โครินธ์ 8:5-6ฉบับ ESV)

     เปาโลชี้ให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างพระเจ้าพระบิดากับพระเยซูคริสต์องค์ผู้เป็นเจ้า  จะเห็นว่าไม่มีความสับสนเลยระหว่างทั้งสองพระองค์  มีพระเจ้าผู้ทรงเป็นพระยาห์เวห์ (พระบิดา) และมีพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นองค์ผู้เป็นเจ้า  เปาโลแยกให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนและไม่มีความสับสนอย่างที่ครอบงำในความเชื่อตรีเอกานุภาพ

     ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพสามารถหาได้แต่เพียงข้อสนับสนุนที่อ่อนน้ำหนักและกำกวมจากไฟโลและปรัชญากรีกเท่านั้นในการตีความยอห์น 1:1 ของพวกเขา  ไฟโลดัดแปลงปรัชญากรีกให้ใกล้เคียงกับพระคัมภีร์เดิม  อันที่จริงไฟโลไม่ได้มีพื้นฐานในพระคัมภีร์เดิมที่จะทำเช่นนั้น  เขาแค่พยายามจะเข้าถึงพวกกรีกโดยทำพระคัมภีร์เดิมให้ถูกใจพวกเขามากขึ้น แต่ในความพยายามที่จะชนะใจคนต่างชาติทำให้เขายอมทำสิ่งร้ายแรงในลักษณะที่อะลุ้มอล่วยกับความเชื่อว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียว  แต่ถึงอย่างนั้น นักวิชาการคริสเตียนทุกคนก็ทราบดีว่า ไฟโลเป็นผู้เชื่อที่แน่วแน่ในพระเจ้าองค์เดียวด้วยใจจริงที่เขาจะไม่ยอมทิ้งความเชื่อของเขาในพระเจ้าเพียงองค์เดียวเป็นอันขาด

     เนื่องจากแนวคิดเกี่ยวกับ “logos” ไม่ได้ทำให้พระเยซูเป็นอย่างที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพต้องการให้พระองค์เป็น คือเป็นพระเจ้าผู้ที่มีความเท่าเทียมกันและมีความนิรันดร์กาลเหมือนกันกับพระบิดา  พวกเขาจึงเกิดความคิดที่ว่ายอห์นรับเอาแนวคิดเกี่ยวกับ “logos” ของไฟโลมาทำให้เป็นแนวคิดในตรีเอกานุภาพ  แต่ทฤษฎีนี้ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรนอกจากจะเชื่อมโยงกับไฟโลและปรัชญากรีกนิดหน่อย ซึ่งจะไม่ทำให้ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพไปถึงจุดหมายที่ต้องการไม่ว่าในกรณีใด  อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยืนกรานว่ายอห์นดัดแปลงความคิดเกี่ยวกับ “logos” และทำให้เป็นบุคคลที่เท่าเทียมกับพระบิดาโดยถือเอายอห์น 1:1 เป็นพื้นฐานพระคัมภีร์ของพวกเขาว่า “ในปฐมกาลพระวาทะทรงดำรงอยู่ และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า และพระวาทะทรงเป็นพระเจ้า” เป็นพื้นฐานพระคัมภีร์ของพวกเขา  ฉบับภาษากรีกมีว่า 

 

Ἐν ἀρχῇ ἦν ὁ λόγος(ในปฐมกาลพระวาทะ​​ดำรงอยู่), καὶ  λόγος ἦν πρὸς τὸν θεν

 

(และพระวาทะอยู่กับพระเจ้า), καὶ θεὸς ἦν  λόγος(และ​​พระวาทะเป็นพระเจ้า)

 

       ดังที่เราตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้านี้ว่าคำ pros” (πρὸς) ที่ยอห์นใช้ตรงนี้หมายถึง “ถึง” ในปฐมกาล 15 (พระดำรัสของพระยาห์เวห์มาถึงอับราม)  แต่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็ยืนยันว่า pros ต้องแปลว่า “กับ” (“พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า”)  เมื่อดูคำ pros ในพจนานุกรมภาษากรีก คุณจะพบว่าแม้บางครั้ง pros” จะหมายถึง “กับ” แต่ก็สามารถหมายถึงอย่างอื่นได้อีกหลายอย่าง เช่น “ถึง” ในความหมายของ “อ้างถึง”  คำแปลที่ถูกต้องสมบูรณ์ก็คือ “และพระวาทะมาถึงพระเจ้า” นั่นก็คือ พระวาทะอ้างถึงพระเจ้า

     ตรงนี้มีคำนำหน้านามที่ชี้เฉพาะว่า τὸνที่อยู่หน้า θεν(พระเจ้า)  ดังนั้นสองคำจึงรวมเป็น τὸνθεν(the God, พระเจ้าองค์ที่ชี้เฉพาะ)  ถ้อยคำจริงที่ใช้ในต้นฉบับภาษากรีกก็คือ “และพระวาทะมาถึงพระเจ้า” (καὶ  λόγος ἦν πρὸς τὸν θεν)  ถ้อยคำถัดมา (καὶ θεὸς ἦν  λόγος”)ซึ่งมักจะแปลว่า “และพระวาทะทรงเป็นพระเจ้า” แต่ครั้งนี้คำว่า “พระเจ้า (θεν)” ไม่มีคำนำหน้านามที่ชี้เฉพาะอยู่ข้างหน้า  ดังนั้นข้อความกรีกจึงกล่าวไว้ว่า “และพระเจ้าทรงเป็นพระวาทะ”  พระคัมภีร์ฉบับภาษาอังกฤษได้กลับลำดับคำ (“และพระวาทะทรงเป็นพระเจ้า”)  แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาร้ายแรง

     คำว่า “พระเจ้า” มีคำนำหน้านามที่ชี้เฉพาะอยู่ในถ้อยคำ “พระวาทะ pros พระเจ้า” แต่ไม่มีคำนำหน้านามที่ชี้เฉพาะอยู่ใน “พระวาทะทรงเป็นพระเจ้า”  ทำไมจึงมีคำนำหน้านามที่ชี้เฉพาะอยู่ในถ้อยคำหนึ่ง แล้วไม่มีอยู่ในอีกถ้อยคำหนึ่ง?  ในกรณีหลัง (“พระวาทะทรงเป็นพระเจ้า” หรือแปลตรงตามคำกรีกว่า “และพระเจ้าทรงเป็นพระวาทะ” นั้นคำ “พระเจ้า” ทำหน้าที่คำนามที่เป็นส่วนของประโยคที่ถูกกล่าวซ้ำว่าเป็นใคร[36]นั่นคือ “พระเจ้า” ถูกกล่าวซ้ำว่าเป็น “logos” หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า “logos” ถูกอธิบายว่าเป็นพระเจ้า 

     จงลองพยายามคิดตรงนี้แบบผู้เชื่อว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียวดู  มันเป็นเรื่องยากที่เราจะเปลี่ยนวิธีคิด จากการเชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์ มาเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว  การถูกฝึกให้คิดว่าพระเจ้ามีหลายองค์นั้น ทำให้เราไม่แคลงใจที่จะคิดในแง่ที่มีหลายพระองค์หรือสามพระองค์เป็นพระเจ้า  แต่ในพระคัมภีร์นั้น “พระเจ้า” (theos)[37]จะอ้างถึงพระยาห์เวห์ผู้เป็นพระบิดาเสมอ  จงลองพยายามคิดแบบผู้เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวเหมือนยอห์นที่เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว  “ในปฐมกาลพระวาทะ​​ดำรงอยู่และพระวาทะ​​ pros (อ้างถึง) พระยาห์เวห์ และพระยาห์เวห์ทรง​​เป็นพระวาทะ”  คุณรับเรื่องนี้ได้ไหม?  มันยากเพราะเราไม่รู้วิธีคิดแบบผู้เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว

     ความเชื่อในตรีเอกานุภาพให้ความหมายซ้อนกับ “theos”  ช่วงเวลาหนึ่ง “theos” หมายถึงพระยาห์เวห์  บรรดานักวิชาการโดยทั่วไปเห็นตรงกันว่า ในคำกล่าวที่มี “pros” นั้นพระวาทะมีการอ้างอิงถึงพระยาห์เวห์ นั่นคือ “theos” หมายถึงพระยาห์เวห์  แต่ว่าในคำกล่าวถัดมานั้น (“พระวาทะทรงเป็นพระเจ้า”) ความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็เปลี่ยนความหมายของ “theos” เพื่อให้ตอนนี้หมายถึงพระองค์ที่สองที่รวมอยู่ใน “พระเจ้าตรีเอกภาพ”!  เพราะการที่จะให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพอยู่รอดต่อไปได้ คุณจะต้องให้ “theos” มีความหมายหลายอย่าง

     ผมใช้เวลานานมาก กว่าจะหลุดจากความคิดแบบที่เชื่อในตรีเอกานุภาพของผมได้  คำ “theos” ที่อ้างถึงพระเจ้านั้นมีสองความหมายในพระคัมภีร์ใหม่ตั้งแต่เมื่อไรหรือ?  มันมีแค่ความหมายเดียวเท่านั้น แต่กับผู้อ่านชาวกรีกแล้วมันง่ายที่จะรับแบบหลายความหมาย  ด้วยพื้นหลังที่เชื่อในพระเจ้าหลายองค์แบบกรีกของเขานั้นทำให้เขาไม่มีปัญหาที่จะยอมรับว่า logos” (พระวาทะ) เป็นพระองค์ที่สองที่รวมอยู่ในพระเจ้าตรีเอกภาพ และผลสุดท้ายของทั้งหมดนี้ก็คือความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

     ในที่สุดเมื่อผมเริ่มเข้าใจเรื่องนี้ ผมก็เห็นจริงว่า theos” (พระเจ้า) ไม่ได้มีสองความหมายในพระคัมภีร์  แต่ที่จะให้บรรลุจุดประสงค์นั้น ความเชื่อในตรีเอกานุภาพจึงต้องกำหนดให้ “theos” มีหลายความหมาย  เมื่อดูประเด็นนี้จากอีกมุมหนึ่ง คือถ้า “theos” ในความหมายที่สองไม่ใช่พระยาห์เวห์ มันก็จะหมายถึง “ความเป็นพระเจ้า” เท่านั้น นั่นคือ “logos” ไม่ใช่พระยาห์เวห์หรือเทียบเท่ากับพระยาห์เวห์ แต่แค่มีลักษณะของความเป็นพระเจ้า  เมื่อ “theos” ถูกลดให้เป็นพระลักษณะของพระเจ้า “logos” จึงถูกลดให้เป็นพระลักษณะของพระเจ้าด้วย  สิ่งนี้ไม่ได้ส่งเสริมความเชื่อในตรีเอกานุภาพเท่าไร เพราะการมีลักษณะของพระเจ้าก็ไม่เทียบเท่ากับการเป็นพระเจ้า  2 เปโตร 1:4[38] กล่าวว่า เราเองก็มีส่วนในพระลักษณะของพระเจ้า แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เราเป็นพระเจ้า

พระวาทะมาเป็นเนื้อหนังและประทับอยู่ท่ามกลางเรา

     ยอห์น 1:14 กล่าวเพิ่มเติมว่า “และพระวาทะ​ [logos]มาเป็นเนื้อหนังและประทับอยู่ท่ามกลางเรา[39] และเราได้เห็นพระสิริของพระองค์ ดังพระสิริของพระบุตรองค์เดียวจากพระบิดา ที่เปี่ยมด้วยพระคุณและความจริง(ฉบับ ESV)

     ผมอยากจะชี้ให้เห็นบางสิ่งที่หายไปในการแปลฉบับภาษาอังกฤษ โดยไม่เข้าไปในรายละเอียดโดยเฉพาะ  ในข้อความภาษากรีกของ “พระวาทะมาเป็นเนื้อหนัง และประทับอยู่ท่ามกลางเรา” ก็คือ “καὶ ὁ λόγος σὰρξ ἐγένετο καὶ ἐσκήνωσεν ἐν ἡμῖν”  ตรงนี้มีคำสำคัญแต่มันได้หายไปในการแปลเป็นภาษาอังกฤษ  คำที่สำคัญนี้คือ ἐσκήνωσεν(eskēnōsen) จากคำกริยา σκηνόω(skēnoō) ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำนาม σκην,(skēnē)

     คำนี้หมายความว่าอย่างไร?  เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญของคำนี้ เราต้องกลับไปที่พระคัมภีร์เดิมแล้วไปที่วิวรณ์อย่างรวดเร็ว  คำกริยา “skēnoō” หมายถึง “การอาศัยอยู่ในเต็นท์ ในพลับพลา”  ดังนั้น “ประทับอยู่ท่ามกลางเรา” จึงไม่ได้หมายความถึงการอยู่ในแบบธรรมดาแต่ในความหมาย แบบเจาะจงว่า “ทรงพำนักอยู่ในพลับพลาท่ามกลางเรา”  พลับพลานี้เป็นสิ่งที่รู้จักกันดีในพระคัมภีร์เดิม จากหลายตัวอย่างที่พระเจ้าทรงพำนักอยู่ในพลับพลากับประชากรของพระองค์  แนวคิดนี้ไม่ได้มาจากพระคัมภีร์ใหม่แต่มีรากฐานมาจากพระคัมภีร์เดิม  ยอห์นนำเสนอแนวคิดที่สำคัญนี้ในยอห์น 1:14 แต่ได้ขาดหายไปในฉบับแปลภาษาอังกฤษ

     พระยาห์เวห์ประทับอยู่ พระองค์ได้ทรงพำนักอยู่ในพลับพลากับประชากรของพระองค์ในถิ่นทุรกันดาร  พลับพลานี้เป็นเต็นท์ขนาดใหญ่ที่ไปกับชนอิสราเอลในทุกที่เมื่อพวกเขาเดินทางในถิ่นทุรกันดาร  ในเต็นท์นั้นเองที่โมเสสและเหล่าผู้นำของอิสราเอลได้เข้าเฝ้าพระยาห์เวห์  พระยาห์เวห์ ทรงปรากฏกับพวกเขาในเต็นท์หรือที่ประตูเต็นท์  ภายในเต็นท์มีหีบพันธสัญญา

     ต่อมาพระวิหารก็เข้ามาแทนที่เต็นท์ ด้วยโครงสร้างใหญ่โตและแข็งแรงที่โซโลมอนสร้างขึ้น  แต่กระนั้นโซโลมอนก็ยังพูดในมุมมองของการทรงพำนักอยู่ของพระเจ้าในเต็นท์ หรือประทับอยู่กับเรา  เขาอธิษฐานกับพระเจ้าว่า “ฟ้าสวรรค์และฟ้าสวรรค์อันสูงสุดยังรับพระองค์ไว้ไม่ได้  แล้วพระนิเวศนี้ซึ่งข้าพระองค์ได้สร้างขึ้นจะรับพระองค์ไว้ได้อย่างไร? (1พงศ์กษัตริย์ 8:27) และก็พูดถึงพระวิหารซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าเป็น “ที่ประทับของพระองค์” (ข้อ 30, 39, 43, 49)

       ตลอดประวัติศาสตร์ของอิสราเอลในพระคัมภีร์เดิมนั้น พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ประทับในพลับพลา (σκηνόω) และประทับอยู่กับประชากรของพระองค์  จากนั้นก็มีบางอย่างเกิดขึ้น  ในเส้นโคจรนั้นเราได้ร่างภาพคร่าวๆว่า พระเจ้าทรงไปไกลจากมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ  ตอนแรกพระองค์ทรงอยู่ในพระวิหาร แต่ต่อมาเมื่อชนอิสราเอลยังคงอยู่ในความบาป พระสิริของพระเจ้าก็ออกไปจากพระวิหาร (เอเสเคียลบทที่ 10)  ในที่สุดพระวิหารก็ถูกไฟเผาทำลาย (พงศาวดาร 36:19)

     แต่พระเจ้าจะเสด็จกลับมาพำนักอยู่ในพลับพลาเพื่ออยู่กับเรา!  เมื่อหลายปีมาแล้ว มีช่วงเวลาหนึ่งที่พระองค์ประทับอยู่กับชนอิสราเอลและทรงดำเนินกับพวกเขาในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาสี่สิบปี  พระองค์ได้ทรงจัดเตรียมอาหารและน้ำให้พวกเขาและพำนักอยู่ท่ามกลางพวกเขา เรื่องราวต่างๆในพระคัมภีร์เดิมช่วยให้เราเห็นว่า พระเจ้าทรงปรารถนาที่จะประทับอยู่กับประชากรของพระองค์  แต่ในที่สุดพระเจ้าก็เสด็จออกจากพระวิหาร และไม่มีการประทับอยู่ของพระองค์อีกต่อไป

       แต่คำภาษากรีกเพียงคำเดียวก็สามารถเปลี่ยนภาพทั้งหมดได้ ถ้าคุณเข้าใจความสำคัญของมันในพระคัมภีร์เดิม  ในตอนท้ายของวิวรณ์ คำนั้นก็ปรากฏอีกครั้งว่า ดูเถิดพลับพลา​ (σκην) ของพระเจ้าอยู่ท่ามกลางมนุษย์แล้ว และพระองค์จะประทับอยู่ (σκηνόω) ท่ามกลางพวกเขา(วิวรณ์ 21:3ฉบับNASB)  ในนครเยรูซาเล็มใหม่ในสวรรค์ (ข้อ 2) พระยาห์เวห์และพระเมษโปดกจะพำนักอยู่ในพลับพลาอีกครั้งท่ามกลางเหล่าประชากร  คำว่า “ประทับอยู่”( σκηνόωพำนักอยู่ในพลับพลา) เป็นคำเดียวกันกับที่ใช้ในยอห์น 1:14 ที่“พระวาทะมาเป็นเป็นมนุษย์ และประทับอยู่ท่ามกลางเรา”  คำนี้ไม่ใช่คำที่หายากและไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในยอห์น 1:14  อันที่จริงคำนี้มีปรากฏ 82 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่

     เปาโลอธิบายถึงร่างกายของเขาว่าเป็นเต็นท์[40] (2 โครินธ์ 5:1-4) ซึ่งในวันหนึ่งจะพังทลายลงไป  (ทุกวันนี้ผมกำลังคุ้นเคยกับความจริงข้อนี้มากขึ้น และอีกไม่นานก็ถึงเวลาที่ผมจะต้องไป)  ในขณะนี้เรากำลังอาศัยอยู่ในพลับพลา หรือ “กำลังอยู่ในเต็นท์” ในร่างกายของเรา ในเวลาเดียวกันเราก็เป็นพระวิหารของพระเจ้าด้วย ที่พระยาห์เวห์ประทับอยู่หรือทรงพำนักอยู่ในพลับพลาในเรา  แนวคิดนี้มีพลังและลึกซึ้ง และผมไม่รู้ว่าทำไมจึงไม่มีการสอนกันอีกต่อไป

     คุณเห็นเส้นโคจรไหมว่ากำลังมุ่งหน้าไปทางไหน?  เพื่อจะให้คำสัญญาในอิสยาห์สำเร็จ พระยาห์เวห์จึงเสด็จกลับมายังโลก มาประทับอยู่ในองค์พระเยซู ไม่ใช่ว่าพระเยซูคือพระยาห์เวห์แต่พระยาห์เวห์ทรงแฝงพระกายอยู่ในพระเยซูดังใน “เพราะ​​ความ​​ครบบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้า​​ดำรงอยู่ในพระกายของพระองค์ [พระเยซู]”(โคโลสี 2:9 ฉบับ ESV)

     แนวคิดเรื่องพระเจ้าที่ทรงพำนักอยู่ในพลับพลาท่ามกลางประชากรของพระองค์นั้น หมายถึงพระยาห์เวห์และไม่ได้หมายถึงใครอื่นเลย  ถ้าไม่ใช่พระยาห์เวห์ผู้ทรงพำนักอยู่ในพลับพลาท่ามกลางประชากรของพระองค์ แล้วจะเป็นใครได้?  แต่เราก็ยืนกรานว่าไม่ใช่พระยาห์เวห์ผู้เสด็จเข้ามาในโลก แต่เป็นพระเจ้าพระองค์ที่สองผู้ที่ไม่ได้มีอยู่ในพระคัมภีร์เดิมด้วยซ้ำ  ทำไมเราจึงต้องยืนกรานอยู่กับพระเจ้าพระองค์ที่สองแทนที่จะเป็นพระเจ้าองค์เดียวและเพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นผู้ที่เสด็จกลับมาในองค์พระเยซู?  ทำไมเราจึงมองไม่เห็นว่าพระยาห์เวห์ พระเจ้าผู้ดำเนินกับอาดัมและเอวาและกับคนอื่นๆอีกมากมาย และผู้ทรงทำการอัศจรรย์ต่างๆที่มีผลกระทบมากต่อโลกนั้น คือพระเจ้าผู้ประทับอยู่ในองค์พระเยซูในเนื้อหนัง?

     คำว่า “เนื้อหนัง” ในภาษากรีกหมายถึงร่างกาย เป็นคำทั่วไปสำหรับชีวิตมนุษย์และการดำรงอยู่ของมนุษย์  พระยาห์เวห์ทรงเลือกที่จะพำนักอยู่ในพลับพลาในกายเนื้อหนัง ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ไม่เคยทำมาก่อน  พระองค์ได้ประทับอยู่ในพลับพลาและต่อมาในพระวิหารอันงดงามที่โซโลมอนสร้างขึ้น  นานมาแล้วพระเจ้าประทับอยู่ในพระวิหารที่สร้างด้วยมือมนุษย์ แต่บัดนี้พระองค์ประทับอยู่ในพระวิหาร ซึ่งก็คือพระเยซู ที่พระองค์เองทรงสร้างขึ้น

     ตอนนี้เราเริ่มจะเห็นความจริงที่น่าตกใจซึ่งถูกปิดบังมานาน  เราหลงคิดมาเป็นเวลานานแล้วว่าพระองค์ที่สองในพระเจ้าตรีเอกานุภาพได้เสด็จเข้ามาในโลก  ทำไมเราจึงเต็มใจอย่างมากที่จะกันและทำให้พระยาห์เวห์หมดความสำคัญ โดยยืนกรานว่าผู้เสด็จเข้ามาในโลกไม่ใช่พระบิดาคือพระยาห์เวห์เอง แต่เป็นพระเจ้าพระองค์ที่สองที่เสด็จเข้ามาในโลก?  จงลองค้นให้ทั่วพระคัมภีร์เดิมและดูซิว่าคุณจะหาพระองค์ที่สองหรือที่สามที่เป็นพระเจ้าพบหรือไม่  ทั้งสองพระองค์ไม่ได้มีอยู่จริง

     ตรงนี้เราเริ่มจะเห็นการเชื่อมโยงกันอย่างมหัศจรรย์ระหว่างพระคัมภีร์เดิมกับพระคัมภีร์ใหม่ ในการเปิดเผยที่น่าประหลาดใจว่าพระยาห์เวห์เองได้เสด็จกลับมา[41]  ผมจึงขอยืนยันกับคุณว่า นี่เป็นการเปิดเผยที่น่าอัศจรรย์ของพระคัมภีร์ใหม่ และสำเร็จตามพระสัญญาต่างๆในพระคัมภีร์เดิม

     ถ้าเราเชื่อได้ง่ายๆว่า พระองค์ที่สองในพระเจ้าตรีเอกภาพได้เสด็จเข้ามาในโลกในพระกายและในองค์พระเยซู  แล้วทำไมมันจึงยากเหลือเกินที่เราจะเชื่อว่าพระยาห์เวห์ผู้ทรงฤทธิ์ พระองค์เองได้เสด็จกลับมายังโลกที่พระองค์ได้ทรงย่างพระบาทมาก่อน เพื่อทรงดำเนินท่ามกลางมนุษย์อีกครั้ง?  นี่คือพระยาห์เวห์ผู้ทำหน้าที่ปุโรหิต ทรงฆ่าสัตว์และทำเสื้อปกปิดกายอาดัมกับเอวา ทรงลบมลทินให้พวกเขา (“ปกปิด” และ “ลบมลทิน” มีรากศัพท์เดียวกันในภาษาฮีบรู)  พระยาห์เวห์องค์เดียวกันนี้ได้เสด็จมาเพื่อช่วยเราให้รอด

     “คือพระเจ้าผู้สถิตในองค์พระคริสต์ ทรงให้โลกนี้คืนดีกับพระองค์เอง มิได้ทรงถือโทษในการละเมิดของเขา และพระองค์ได้ทรงมอบพระวจนะแห่งการคืนดีนั้นให้กับเรา” (2 โครินธ์ 5:19 ฉบับ NASB)  ความเชื่อในตรีเอกานุภาพกล่าวว่า พระคริสต์ได้เสด็จลงมาและทำให้โลกนี้คืนดีกับพระเจ้า  พระคริสต์ทรงทำให้โลกนี้คืนดีกับพระเจ้าก็จริง แต่เป็นพระยาห์เวห์ในพระคริสต์ที่เสด็จมาในโลกนี้เพื่อให้โลกคืนดีกับพระองค์เอง  พระองค์ไม่ได้ทรงนับการละเมิดของเรา เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงมีพระเมตตาต่ออาดัม เอวา และคาอิน  “และพระองค์ได้ทรงมอบพระวจนะแห่งการคืนดีนั้นให้กับเรา” (“พระวจนะ” ตรงนี้คือ “λόγον” เป็นกรรมการกของ “λόγος”)

“พระวาทะ” ไม่เคยเป็นชื่อเรียกพระเยซู

           สิ่งนี้นำเราไปสู่อีกประเด็นของการตีความในยอห์น 1:1 ที่คำ “Logos” (พระวาทะ) ไม่เคยถูกใช้เป็นชื่อเรียกพระเยซูในพระกิตติคุณยอห์น  ในข้อต่างๆหลังยอห์น 1:1พระเยซูไม่เคยถูกเรียกว่า “logos”  ความจริงแล้วในพระคัมภีร์ใหม่ทั้งเล่ม คำว่า “logos” ไม่เคยถูกใช้ับพระเยซูว่าเป็นชื่อเรียก  มีข้อเดียวที่อาจนำมาใช้กับพระเยซูได้คือวิวรณ์ 19:13 แต่นักวิชาการพระคัมภีร์ใหม่หลายคนก็ยังสงสัยในข้อนี้  ในข้อนี้มีผู้ที่เรียกว่า “พระวาทะของพระเจ้า” ทรงม้าขาวมา ซึ่ง “พระองค์ทรงฉลองพระองค์ที่ได้จุ่มในเลือดและพระนามที่เรียกพระองค์​​คือ พระวาทะของพระเจ้า” (ฉบับ NASB)

     ยอห์น 1:1 พูดถึง “พระวาทะ” ว่าเป็น “พระวจนะของพระเจ้า” มากกว่า  และในพระคัมภีร์นั้น “พระวจนะของพระเจ้า” มักจะหมายถึงการเปิดเผยของพระเจ้าเสมอ และไม่เคยหมายถึงองค์พระคริสต์  มีข้อยกเว้นเดียวที่เป็นไปได้ก็คือ วิวรณ์ 19:13 ที่เพิ่งกล่าวถึง แต่เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วแม้แต่ข้อนี้ก็ไม่น่าจะหมายถึงพระเยซู  คุณอาจคิดว่า “จุ่มในเลือด” เป็นการอ้างอิงถึงพระเยซู แต่นั่นไม่น่าเป็นไปได้เพราะอันที่จริง เรื่องราวทั้งหมดเป็นไปตามคำเผยพระวจนะในอิสยาห์บทที่ 63

           2เหตุใดฉลองพระองค์ของพระองค์จึงมีสีแดงเหมือนกับเสื้อผ้าของคนที่ย่ำองุ่น  3“เราย่ำบ่อองุ่นแต่ลำพัง ไม่มีใครจากชนชาติทั้งหลายอยู่กับเราเลย  เราย่ำพวกเขาด้วยความโกรธของเราและเหยียบพวกเขาด้วยความพิโรธของเรา โลหิตของพวกเขาเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าของเรา และเราทำให้​​เสื้อผ้าของเราเปื้อนไปหมด   4เพราะวันแห่งการแก้แค้นอยู่ในใจเรา และปีแห่งการไถ่ของเรามาถึงแล้ว  5เรามองดู แต่ไม่มีใครช่วย  เรา​​ใจหายที่ไม่มีใครเกื้อหนุน  ดังนั้นแขนของเราเองจึง​​ช่วย​​เราให้รอด และความโกรธของเราเองจึงประคับประคองเราไว้ 6เราเหยียบชนชาติทั้งหลาย​​ด้วยความโกรธของเรา  ด้วยความพิโรธของเรา เราทำให้พวกเขาเมา และเทโลหิตของพวกเขาลงบนผืนดิน” (ฉบับ NIV)

     พระยาห์เวห์ทรงเหยียบองุ่นด้วยความพิโรธ  ฉลองพระองค์ของพระองค์​​จุ่มลงในเลือดของศัตรูของพระองค์ ไม่ใช่พระโลหิตของพระองค์เอง  เมื่อคุณดูต่อไปในวิวรณ์คุณจะเจอนิมิตของกองทัพทั้งหลายในสวรรค์ที่นำโดยพระยาห์เวห์เอง คือที่ “เหล่ากองทัพในสวรรค์นุ่งห่มผ้าป่านเนื้อละเอียด สีขาวและสะอาด ขี่ม้าขาวตามพระองค์ไป(วิวรณ์ 19:14ฉบับ NASB)  ชื่อหนึ่งของพระยาห์เวห์ก็คือพระเจ้าจอมโยธา หรือ พระเจ้าจอมทัพ

วิวรณ์ 19:14 อาจหมายถึงพระเยซู แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น  ข้อ16 พูดถึง​​พระมหากษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งปวงและองค์​​เจ้านายเหนือ​​บรรดาเจ้านาย บางคนมองว่านี่เป็นชื่อที่เรียกพระเยซู  มันอาจใช่หรืออาจไม่ใช่  ใน ทิโมธี 6:15 เป็นพระยาห์เวห์พระเจ้า ผู้เป็นพระมหากษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งปวงและเป็นองค์เจ้านายเหนือ​​เจ้านายทั้งปวง

     มีอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับยอห์น 1:1 คือบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกล่าวว่า Logos (พระวาทะ) กับพระเยซูเป็นบุคคลเดียวกัน แต่นั่นเป็นสิ่งที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพคิดค้นขึ้น  ในยอห์น 1:1Logos (พระวาทะ) ดำรงอยู่ก่อนซึ่งหมายถึงคำตรัสของพระเจ้าที่พระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์เองซึ่งมีอยู่ทั่วพระคัมภีร์เดิม  การเสด็จเข้ามาในโลกของพระยาห์เวห์ในองค์พระเยซูนั้น เป็นการเปิดเผยพระองค์เองมากที่สุดเท่าที่เคยมีในพระวาทะสุดท้ายนี้  พระวาทะนี้คือพระยาห์เวห์เอง เพราะ “พระวาทะเป็นพระเจ้า” (the Word was God)

     ยอห์น 1:1 มีรูปแบบที่คล้ายกันกับ 1 ยอห์น 1:1  ในเล่มหลัง “พระวาทะ” ไม่ได้หมายถึงบุคคลแต่หมายถึงถ้อยคำของพระเจ้าและเป็นการเปิดเผยพระองค์เอง ซึ่งตอนนี้มีตัวตนในการแฝงพระกายอยู่ในพระเยซู ดังที่ “สิ่งที่มีมาตั้งแต่ปฐมกาล  สิ่งที่เราได้ยิน สิ่งที่เราได้เห็นกับตาของเรา สิ่งที่เราได้พินิจดูและจับต้องด้วยมือของเรานั้น เกี่ยวกับพระวาทะแห่งชีวิต” (1 ยอห์น 1:1ฉบับ NASB)   รูปแบบเดียวกันที่ปรากฏให้เห็นคือ “ตั้งแต่ปฐมกาล” ใน 1 ยอห์น 1:1สอดคล้องกับ “ในปฐมกาล” ในยอห์น 1:1 และ “พระวาทะแห่งชีวิต” ก็สอดคล้องกับ “พระวาทะ”  พระวาทะที่ “จับต้องด้วยมือของเรา” นั้นบอกถึงการเสด็จมาอย่างมีตัวตนของพระยาห์เวห์ในองค์พระเยซูในกายเนื้อหนัง

 

ทูตสวรรค์ของพระเจ้า

     สิ่งนี้เตือนเราถึงข้อเท็จจริงที่น่าทึ่งว่า ในพระคัมภีร์เดิมนั้น ทูตสวรรค์ของพระเจ้ามักจะปรากฏตัวเป็นมนุษย์เสมอ และมักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนของพระเจ้า  ในผู้วินิจฉัยบทที่ 13ทูตสวรรค์ของพระเจ้าปรากฏกับมาโนอาห์และภรรยาของเขา ผู้เป็นพ่อแม่ของแซมสันในเวลาต่อมา  พวกเขาคิดว่ากำลังพูดอยู่กับคนของพระเจ้า แต่ก็เป็นมนุษย์  แต่แล้วพวกเขาก็เริ่มเห็นว่าชายผู้นี้ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา แต่เป็นทูตสวรรค์ของพระเจ้า

     ในพระคัมภีร์เดิมนั้นเมื่อทูตสวรรค์ของพระเจ้า (หรือทูตสวรรค์องค์หนึ่งองค์ใด) มาปรากฏกับผู้คน ทูตสวรรค์นั้นจะดูเหมือนมนุษย์เสมอ  ความคิดของเราเกี่ยวกับพวกทูตสวรรค์ว่ามีปีกใหญ่ๆก็เลิกคิดได้เลย เพราะพวกทูตสวรรค์จะไม่ปรากฏตัวกับเหล่ามนุษย์พร้อมกับปีกบนไหล่  แน่นอนว่าทูตสวรรค์บางองค์มีปีก  เครูบเป็นพวกทูตสวรรค์ที่กางปีกคลุมหีบพันธสัญญาซึ่งอย่างน้อยก็ในลักษณะรูปภาพ  เสราฟิมมีปีกแต่ไม่ค่อยได้ถูกกล่าวถึงภายนอกฉากสวรรค์ของอิสยาห์บทที่ 6  เมื่อเหล่าทูตสวรรค์อยู่ในสวรรคสถานนั้น พวกทูตสวรรค์จะถูกวาดภาพว่ามีปีก แต่เมื่อพวกทูตสวรรค์ปฏิสัมพันธ์กับเหล่ามนุษย์ ก็จะปรากฏตัวโดยไม่มีปีกและมองไม่แตกต่างจากมนุษย์

     “อย่าละเลยที่จะต้อนรับแขกแปลกหน้า เพราะโดยการทำเช่นนั้น บางคนก็ได้ต้อนรับทูตสวรรค์โดยไม่รู้ตัว” (ฮีบรู 13:2ฉบับ NASB)  บางคนได้ต้อนรับทูตสวรรค์ที่มาปรากฏตัวในรูปของมนุษย์  จงอย่าแปลกใจถ้าวันหนึ่งวันใดคุณอาจได้จับมือทักทายใครสักคนแล้วพบว่าเขาเป็นทูตสวรรค์

     มาโนอาห์วิงวอนผู้ที่เขาคิดว่าเป็นมนุษย์แต่ที่จริงเป็นทูตสวรรค์ของพระเจ้าให้อยู่ต่อ เพื่อเขาจะได้เตรียมลูกแพะมาให้เพื่อเป็นการขอบคุณที่บอกข่าวว่าเขากับภรรยาจะมีบุตรชาย  ทูตสวรรค์ของพระเจ้าไม่ยอมกินอาหารของเขาแต่บอกให้มาโนอาห์ถวายลูกแพะเป็นเครื่องเผาบูชาแด่พระยาห์เวห์  มาโนอาห์ก็ทำตามที่ทูตสวรรค์ของพระเจ้าบอก และเตรียมลูกแพะเป็นเครื่องเผาบูชาพร้อมกับธัญบูชาและถวายแด่พระเจ้า  เมื่อเปลวไฟจากแท่นบูชาพลุ่งขึ้นถึงสวรรค์ ทูตสวรรค์ของพระเจ้าก็ขึ้นไปตามเปลวไฟและหายไป  มาโนอาห์กับภรรยาจึงตระหนักว่าพวกเขาได้พูดอยู่กับทูตสวรรค์ของพระเจ้า  มาโนอาห์จึงพูดกับภรรยาว่า “เรา​​จะต้องตายแน่ๆ เพราะเราได้เห็นพระเจ้า” (ผู้วินิจฉัย 13:22ฉบับ ESV) และประหลาดใจว่าที่พวกเขาไม่ตายเพราะได้เห็นพระเจ้า  แต่ภรรยาของมาโนอาห์ให้เหตุผล (อย่างถูกต้อง) ว่าถ้าพระเจ้าต้องการจะฆ่าพวกเขา พระองค์ก็คงจะไม่ยอมรับเครื่องเผาบูชาและธัญบูชาของพวกเขา หรือสำแดงสิ่งพิเศษเหล่านี้ทั้งหมดกับพวกเขา (ข้อ 23)

     ลูกาบทที่ 24 บอกเราว่าในวันคืนพระชนม์นั้น มีทูตสวรรค์สององค์สวมเครื่องแต่งกายส่องแสงแวววาวมาปรากฏกับพวกผู้หญิงกลุ่มเล็กๆ ที่อุโมงค์ฝังพระศพของพระเยซู  พวกผู้หญิงไม่ได้เห็นว่าพวกทูตสวรรค์แตกต่างจากมนุษย์ด้วยกัน เว้นก็แต่ความวาววับจากเสื้อผ้าของพวกเขา และในเวลาต่อมาพวกเขาก็ตระหนักว่าพวกเขาได้พูดอยู่กับพวกทูตสวรรค์

     เมื่อก่อนผมคิดว่าผมสามารถใช้ความคิดเรื่องทูตสวรรค์ของพระเจ้าเป็นพระองค์ที่สองหรือเป็นพระวาทะได้แม้ว่าผมจะไม่พบความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างพระวาทะกับทูตสวรรค์ของพระเจ้าก็ตาม  เมื่อผมศึกษาเรื่องนี้ ผมพบว่าพระคัมภีร์เดิมบันทึกการปรากฏตัวของทูตสวรรค์ของพระเจ้าประมาณหกสิบครั้ง ซึ่งแท้จริงแล้วคือพระยาห์เวห์ที่ปรากฏในรูปมนุษย์  นั่นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระยาห์เวห์ทรงดำเนินบนโลกและพูดคุยกับผู้คน (เปรียบเทียบการปรากฏกับอับราฮัมที่ต้นโอ๊กแห่งมัมเรในปฐมกาลบทที่ 18)

พระเจ้าทรงอยู่กับเรา

  เมื่อเราเห็นความรัก พระสิริ และความงดงามของพระยาห์เวห์ แล้วทำไมเรายังต้องการจะทำให้พระองค์หมดความสำคัญลง?  และขอให้คิดดูสักครู่ก่อนที่เราจะด่วนปกป้องความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์ (เหมือนที่ผมได้ทำ)  ทำไมเราจึงเฉยเมยกับพระสิริของพระยาห์เวห์ ถึงขนาดยอมผลักไสพระองค์ออกไปเพื่อทำให้พระเยซูเป็นทุกสิ่งที่เราต้องการให้พระเจ้าเป็น?  นั่นคือสิ่งที่พระเยซูไม่ต้องการให้เราทำ  พระองค์ไม่ได้แสวงหาความเท่าเทียมกับพระบิดา แต่กระนั้นเราก็ทำให้ทั้งสองพระองค์เท่าเทียมกัน  ทำไมเราจึงทำในสิ่งที่พระเยซูทรงบอกไม่ให้เราทำ?  และทำไมเราจึงไม่ทำในสิ่งที่พระเยซูทรงบอกให้เราทำ เช่น ถวายเกียรติแด่พระยาห์เวห์ พระบิดาของพระองค์? 

     “และเราก็มีสามัคคีธรรมกับพระบิดา และกับพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์” (1ยอห์น 1:3)  ผมไม่ได้บอกว่าเราไม่ต้องการพระเยซูหรือเราควรจะลืมพระองค์  เราจะกำจัดพระเยซูออกไปไม่ได้เพราะ “พระเจ้าผู้สถิตอยู่ในพระคริสต์ ทรงให้โลกนี้คืนดีกันกับพระองค์เอง(2 โครินธ์ 5:19)  ไม่มีใครมาถึงพระบิดาได้นอกจากมาทางพระเยซูผู้เป็นทางนั้น  พระยาห์เวห์ทรงเห็นควรว่าเราจะ ต้องไม่กันพระเยซูออกไป เช่นเดียวกับที่เราจะต้องไม่กันพระยาห์เวห์ผู้ที่เสด็จมาช่วยเราออกไป

     “เยซู” (เยชูวา) เป็นคำย่อของ “โยชูวา” (เยโฮชูวา)[42]มีความหมายว่า “พระยาห์เวห์ทรงช่วยให้รอด” เพราะเป็นพระยาห์เวห์ที่ช่วยเราให้รอด  ดังนั้นพระนาม “ยาห์เวห์” จึงปรากฏอยู่ในพระนาม “เยซู”  คุณจะเอ่ยถึง “พระเยซู” โดยที่ไม่เอ่ยถึง “พระยาห์เวห์” ไม่ได้ และคุณก็จะกันพระยาห์เวห์ออกไปโดยที่คุณไม่กันพระเยซูไม่ได้เช่นกัน  เมื่อเราพูดว่า “ในพระนามพระเยซู” นั้นเรากำลังพูดว่า “ในพระนามของพระยาห์เวห์ผู้ทรงช่วยเราให้รอด” ทั้งหมดนี้มาจากพระปรีชาญาณของพระเจ้า เพื่อเราจะได้เข้าใจถึงความกว้าง ความยาว ความสูง และความลึกของความรักของพระคริสต์

     คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่ได้รับสิทธิพิเศษมากที่สุดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคริสตจักร  เท่าที่ผมรู้ คำสอนนี้ไม่เคยมีสอนที่ไหนเลยนับตั้งแต่ศตวรรษแรกเป็นต้นมา  เป็นคำสอนที่รวมพระคัมภีร์เดิมกับพระคัมภีร์ใหม่ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์ และเส้นโคจรในการเปิดเผยพระองค์เองของพระเจ้าก็มาบรรจบกันอย่างสมบูรณ์  พระเจ้าเสด็จกลับมายังโลก ทรงแฝงพระกายอยู่ในพระเยซูเพื่อให้มวลมนุษย์กลับคืนดีกับพระองค์  ผมคุ้นเคยอย่างดีกับหลักคำสอนเกี่ยวกับพระคริสต์และความเชื่อผิดๆที่เกี่ยวข้องกับองค์พระคริสต์ในประวัติศาสตร์ของคริสตจักร  ผมประหลาดใจที่คำสอนที่ผมได้สอนพวกคุณนี้ไม่เคยถูกสอนมาก่อนเลยตั้งแต่ครั้งที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพมีชัยชนะและครอบงำคริสตจักร โดยได้ขับความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวออกไปจากคริสตจักร  แต่ด้วยสิทธิพิเศษในการได้ยินพระคำของพระเจ้า จึงต้องมีความรับผิดชอบตามมาในการประกาศพระคำแห่งการคืนดี

     นั่นเป็นถ้อยคำที่น่าอัศจรรย์ พระยาห์เวห์ได้เสด็จเข้ามาในโลกจากพระบัลลังก์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์  พระคัมภีร์เดิมจะกล่าวบ่อยครั้งถึงการเสด็จลงมาของพระยาห์เวห์ในโลกมนุษย์  พระเจ้าเสด็จลงมาเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นที่หอบาเบล  พระเจ้าทรงลงมาที่ภูเขาซีนาย  และพระเยซูก็ตรัสด้วยจิตวิญญาณอย่างเดียวกันว่า พระองค์เสด็จลงมาเป็นอาหารแห่งชีวิต

         ในสองบทนี้ผมกำลังวางรากฐานให้เข้าใจการเปิดเผยพระองค์เองของพระยาห์เวห์ขั้นพื้นฐานในองค์พระเยซูคริสต์



[1] “kurios (Lord) แปลว่า “องค์เจ้านาย” หรือ “องค์ผู้เป็นเจ้า” (ผู้แปล)

[2] “SeptuagintLXXคือตัวเลข70 ของโรมัน (L มีค่าเท่ากับ 50,  X มีค่าเท่ากับ 10, LXX จึงมีค่าเท่ากับ 70) -ผู้แปล

[3]พระคัมภีร์ฉบับภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า “Lord God (องค์ผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพระเจ้า) แทน “Lord LORD” ที่ซ้ำซ้อนกัน (ผู้แปล)

[4]พระองค์ที่สองที่เป็นพระเจ้าในตรีเอกานุภาพ หรือ พระองค์ที่สามที่เป็นพระเจ้าในตรีเอกานุภาพ

[5]Professor Ackroyd

[6]Council of Nicaea

[7]Marcion บิช็อปของคริสเตียนในยุคแรกๆ

[8]The Da Vinci Codeชื่อภาพพยนต์ที่โด่งดังจากนวนิยายแนวลึกลับแบบสืบสวนของแดน บราวน์ซึ่งอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมีข้อเท็จจริงประกอบอยู่เพียงส่วนหนึ่งเพื่อเสริมให้เกิดความน่าเชื่อถือว่ามีหลักฐานสนับสนุนความเชื่อเกี่ยวกับศาสนา(ผู้แปล)

[9]Monasticismคือความเชื่อเรื่องการอุทิศตัวให้กับศาสนาโดยการสละชีวิตทางโลกเพื่ออุทิศตนอย่างเต็มตัวในทางธรรม (ผู้แปล)

[10]English Standard Version

[11]Docetism คือหลักคำสอนของคริสเตียนในยุคแรกที่เชื่อว่าพระคริสต์ไม่ได้มีร่างกายของมนุษย์แต่เป็นกายวิญญาณที่ทุกข์ทรมานและตายบนกางเขนเป็นความเชื่อที่ถูกต่อต้านและถือว่าเชื่อผิดในสมัยของคริสเตียนยุคแรกๆ (ผู้แปล)

[12]Christocentric

[13] มาระโก12:29พระเยซูจึงตรัสตอบคนนั้นว่า“พระบัญญัติอันดับแรกคือโอชนอิสราเอลจงฟังเถิดองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราเป็นพระเจ้าองค์เดียว”

[14] จากฉบับมาตรฐาน 2011 ต้นฉบับคือHear O Israel, the LORD our God, the LORD is one.” (Deuteronomy 6:4)

[15]English Standard Versionและจากฉบับมาตรฐาน 2011

[16]อห์น 6:15พระเยซูทรงทราบว่าพวกเขาตั้งใจจะใช้กำลังบังคับให้พระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ จึงเสด็จเลี่ยงขึ้นไปบนภูเขาแต่ลำพัง”

[17]โดยพระองค์ทุกสิ่งได้รับการทรงสร้างขึ้น (โคโลสี 1:16)

[18]คำว่า “พระเจ้า” หรือ “theos” ใช้เรียกพระเจ้าของอิสราเอล หรือเรียกพระอื่นๆ ด้วย (ผู้แปล)

[19]H.A.WMeyer (ผู้เขียนคู่มืออรรถาธิบายพระคัมภีร์ใหม่ของศตวรรษที่ 19)

[20]Pentateuch; penta” หมายถึง “ห้า”

[21]The New Testament canon

[22] “the Word” หรือแปลว่า “พระคำ หรือ พระดำรัส หรือ พระวจนะ” ที่พระคัมภีร์ฉบับภาษาไทยแปลว่า “พระวาทะ” (ผู้แปล)

[23]New American Standard Bible

[24] คำฮีบรู “~yrIåb'D>h;(ฮา เดบาร์อิม) คำอังกฤษคือ “the words” และคำฮีบรู “rb'D'” (ดาบาร์) คำอังกฤษคือ “word

[25] คำกรีก “lo,goj(โลกอส) และคำกรีก “r`h/ma(เรม่า)

[26]ปฐมกาล15:4เวลานั้นพระดำรัสของพระยาห์เวห์มาถึงอับรามว่า“คนนี้จะไม่ได้เป็นผู้รับมรดกของเจ้า”(ฉบับมาตรฐาน 2011

[27]Merkabah

[28]อิสยาห์ 40:3  เสียงหนึ่งร้องว่า “จงเตรียมมรรคาของพระยาห์เวห์ในถิ่นทุรกันดาร จงทำทางหลวงในที่ราบแห้งแล้งให้ตรงสำหรับพระเจ้าของเรา (ฉบับมาตรฐาน 2011)

[29]หรือแปลว่า “พระเจ้า” มาจากคำว่า gods (ภาษากรีกเป็นคำเดียวกันกับ “God”) อ้างอิงจากสดุดี82:6 “เราได้กล่าวว่า ‘เจ้าทั้งหลายเป็นพระ เป็นบุตรองค์ผู้สูงสุด เจ้าทุกคนนั่นแหละ(ผู้แปล)

[30]มีคาห์ 5:2 “เบธเลเฮม เอฟราธาห์ แม้เป็นคนเล็กน้อยในตระกูล จากเจ้าจะมีผู้หนึ่งออกมาเพื่อเรา เป็นผู้ที่จะปกครองในอิสราเอล”

[31] จากคำกรีก “lo,goj” (โลกอส) หรือ “word” แปลว่า ถ้อยคำ คำพูด วจนะ หรือ วาทะ (ผู้แปล)

[32]James Dunn

[33]Greek Stoic philosophy

[34]Philo of Alexandria

[35]Judaism

[36]Predicativeคือภาคแสดงของประโยคซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับประธานที่ใช้เพื่อกล่าวซ้ำถึงประธานว่าเป็นใคร (ในกรณีนี้ พระเจ้าเป็นวาทะ หรือ คำตรัส) -ผู้แปล

[37]อ่านว่า “เธ-ออส” แปลว่า “พระเจ้า” หรือ “พระ” หรือ “เจ้า” (ภาษาอังกฤษคือคำ “Godหรือ “god”) -ผู้แปล

[38]2เปโตร 1:4 “เพื่อว่าโดยพระสัญญาเหล่านี้ พวกท่านจะพ้นจากความเสื่อมทรามที่มีอยู่ในโลกอันเกิดจากความปรารถนาชั่ว และจะมีส่วนในพระลักษณะของพระเจ้า

[39] ฉบับไทยคิงเจมส์แปลว่า “พระวาทะได้ทรงสภาพของเนื้อหนัง” ส่วนฉบับอื่นๆ แปลว่า “พระวาทะบังเกิดเป็นมนุษย์” (ผู้แปล)

[40]2โครินธ์ 5:1, 4 “1บัดนี้เรารู้อยู่ว่าหากเต็นท์ฝ่ายโลกนี้ที่เราอาศัยอยู่ถูกทำลายลง เราก็มีบ้านจากพระเจ้า คือบ้านนิรันดร์ในสวรรค์  ซึ่งไม่ได้สร้างด้วยมือมนุษย์...4เพราะขณะเรายังอยู่ในเต็นท์นี้” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย), ฉบับไทยคิงเจมส์แปลคำนี้ว่า “พลับพลา” และฉบับมาตรฐาน 2011 แปลคำนี้ว่า “เรือนกาย” (ผู้แปล)

[41] เราไม่จำเป็นจะต้องถามคำถามเช่น “ถ้าพระยาห์เวห์ทรงอยู่บนโลกนี้ แฝงพระองค์ในพระเยซู แล้วใครจะดูแลสวรรค์และโลกในช่วงเวลานั้น?  คำถามนี้ตอบได้ไม่ยาก เมื่อพระยาห์เวห์ทรงพำนักอยู่ในพลับพลากับชนอิสราเอลเป็นเวลาสี่สิบปีนั้นได้เกิดกลียุคอะไรไหมกับสวรรค์และโลก?  แล้วสวรรค์พังทลายลงในช่วงสี่สิบปีที่พระยาห์เวห์ทรงใช้เวลากับชนอิสราเอลไหม?  พระยาห์เวห์ทรงใช้เวลาน้อยกว่านั้นคือราว 33 ปีที่สถิตอยู่ในพระกายของพระเยซูด้วยความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระองค์ ไม่จำเป็นที่พระเจ้าต้องให้ส่วนหนึ่งของพระองค์อยู่ในสวรรค์เพื่อให้มั่นใจว่าจักรวาลของพระองค์จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น  พระองค์ทรงสามารถดูแลจักรวาลของพระองค์เองได้จากทุกที่และทุกสถานการณ์

[42]Yeshua, a shorter form of Yehoshua