pdf pic 

 

 

บทที่ 8

 

 

ch1 1

 

ยอห์น 1:14

“และพระวาทะมาเป็นเนื้อหนัง

และตั้งพลับพลาอยู่ในเรา”

 

      ตอนนี้เราจะดูยอห์น 1:14[1] ซึ่งเมื่อแปลตรงตามคำและแปลอย่างถูกต้องแล้ว จะทำให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพอ่อนลงอย่างแท้จริง เพื่อความสะดวก เราจะแบ่งข้อนี้เป็นสามวรรค คือ a, b, c

 

ยอห์น 1:14a - และพระวาทะมาเป็นเนื้อหนัง

ยอห์น 1:14b - และประทับ​​อยู่ท่ามกลางเรา

ยอห์น 1:14cและเราได้เห็นพระสิริของพระองค์ ดังพระสิริ​​ของพระบุตรองค์เดียวจากพระบิดา บริบูรณ์ด้วยพระคุณและความจริง

 

      เราจะดู 1:14b ในบทนี้ และดู 1:14a ในบทต่อไป

      การที่จะแปลความหมายทั้งข้อได้อย่างถูกต้อง เราจะต้องพิจารณาถึงแนวคิดเกี่ยวกับพลับพลาและพระวิหาร นั่นเป็นเพราะคำว่า “ประทับอยู่” ในยอห์น 1:14b (“ประทับอยู่ท่ามกลางเรา”)[2] นั้นไม่ได้มาจากคำกรีกทั่วๆไปว่า “พำนักอยู่” หรือ “อาศัยอยู่”[3] แต่มาจากคำพิเศษที่หมายถึง “การปักเต็นท์อยู่ใน” หรือ “การตั้งพลับพลาอยู่ใน”[4]

 

พลับพลาและพระวิหาร: ภาพรวมโดยย่อ

      คำว่า “พลับพลา” (tabernacle) ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในภาษาอังกฤษ ยกเว้นแต่ในบริบททางศาสนา ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงเห็นว่าเป็นคำที่ลึกลับ แต่จริงๆแล้วเป็นคำที่สละสลวยหรือเป็นคำดั้งเดิมของ “เต็นท์” (มาจากภาษาละตินว่า tabernaculum, “tent”) ดังนั้นเราจะใช้คำว่าเต็นท์และพลับพลาสลับกันไป ในพระคัมภีร์เดิมนั้นคำภาษาอังกฤษว่าพลับพลา มักจะแปลมาจากคำภาษาฮีบรูว่า Mishkan (มิชคาน, “ที่อาศัย”)

 

tabernacle

 

 

      นี่คือภาพวาดของพลับพลาที่พบในพระคัมภีร์ภาษาเยอรมันฉบับ 1891 ภาพนี้เผยให้เห็นพลับพลาที่เต็มด้วยการมาประทับอยู่ด้วยพระสิริของพระเจ้า[5] คำว่า เชคินาห์[6] เกี่ยวข้องกับการอาศัยอยู่หรือการปักหลักอยู่ของการทรงสถิตด้วยพระสิริของพระเจ้า

      ในภาพเราจะเห็นลานกว้างล้อมรอบด้วยเต็นท์ขนาดเล็กนับพัน ที่จัดเรียงตาม 12 เผ่าของอิสราเอล ภายในลานมีพลับพลาซึ่งในพระคัมภีร์ก็เรียกว่า “เต็นท์นัดพบ” สิ่งต่างๆทั้งหมดที่เห็นในภาพคือ พลับพลา ของประจำที่ภายในลาน แท่นบูชา เต็นท์ที่อยู่โดยรอบนั้น ชาวอิสราเอลสามารถรื้อออกและเคลื่อนย้ายได้ในขณะที่พวกเขาเดินทางในถิ่นทุรกันดารไปยังดินแดนแห่งพระสัญญา

      เต็นท์ยังแบ่งเป็นสองส่วนคือ วิสุทธิสถานและอภิสุทธิสถาน ส่วนหลังเป็นที่ประทับพิเศษของพระสิริของพระเจ้าที่มาประทับอยู่ ที่ลงมาเหนือพลับพลาและเปิดทางให้พระเจ้าได้พบกับคนของพระองค์ที่นั่น (เปรียบเทียบกับ “เต็นท์นัดพบ”) ดังจะเห็นในภาพ ที่พระสิริของพระยาห์เวห์ปรากฏเป็น “เสาเมฆในเวลากลางวันและเสาเพลิงในเวลากลางคืน” (อพยพ 13:22) ที่ลงมาเหนือพลับพลา ทำให้พลับพลาเต็มด้วยพระสิริและการสถิตอยู่ของพระองค์ “ในขณะนั้นมีเมฆมาปกคลุมเต็นท์นัดพบไว้ และพระสิริของพระยาห์เวห์ก็ปรากฏอยู่เต็มพลับพลานั้น” (อพยพ 40:34)

      แม้ก่อนที่จะมีพลับพลาขึ้น พระเจ้าก็ได้ทรงคิดไว้แล้วว่านี่จะเป็นที่ประทับของพระองค์ เพราะก่อนหน้านี้พระองค์ได้ตรัสกับโมเสสว่า “แล้วให้พวกเขาสร้างสถานนมัสการสำหรับเรา เพื่อเราจะอยู่ท่ามกลางพวกเขา” (อพยพ 25:8)

      หลายศตวรรษต่อมา พลับพลาก็ได้ถูกแทนที่ด้วยพระวิหาร เพราะเวลานั้นอิสราเอลได้ตั้งรกรากเป็นเวลานานอยู่ในแผ่นดินแห่งพระสัญญา และไม่จำเป็นต้องใช้เต็นท์เพื่อเคลื่อนที่อีกต่อไป ดังนั้นเต็นท์จึงถูกแทนที่ด้วยโครงสร้างที่ตั้งอยู่อย่างถาวร ซึ่งก็คือพระวิหารของซาโลมอน หรือที่รู้จักกันว่า “พระนิเวศของพระเจ้า” ซึ่งคำตรงตัวก็คือ “พระนิเวศของพระยาห์เวห์” เพราะนี่เป็นที่ประทับของพระยาห์เวห์ ดังจะเห็นในพระคัมภีร์ตอนต่อไปนี้ (ให้สังเกตตัวหนา)

 

... เมฆก็เต็มพระนิเวศของพระยาห์เวห์ จนพวกปุโรหิตไม่อาจยืนปรนนิบัติอยู่ได้เพราะเมฆนั้น เพราะพระสิริของพระยาห์เวห์เต็มพระนิเวศของพระยาห์เวห์ แล้วซาโลมอนตรัสว่า “พระยาห์เวห์ตรัสว่า พระองค์จะประทับในความมืดทึบ แท้จริง ข้าพระองค์ได้สร้างพระนิเวศที่โอ่อ่าตระการตาสำหรับพระองค์ เป็นสถานที่เพื่อพระองค์จะสถิตอยู่เป็นนิตย์ (1 พงศ์กษัตริย์ 8:10-13)

 

      แต่ในอีกสองสามข้อต่อมา ซาโลมอนก็คร่ำครวญว่า การปรากฏของพระเจ้านั้นใหญ่โตมาก เกินกว่าจะถูกจำกัดขอบเขตในพระวิหารดังที่กล่าวไว้ว่า “ดูสิ ฟ้าสวรรค์และฟ้าสวรรค์อันสูงสุดยังรับพระองค์อยู่ไม่ได้ แล้วพระนิเวศนี้ซึ่งข้าพระองค์ได้สร้างขึ้นจะรับพระองค์ได้อย่างไร!” (1 พงศ์กษัตริย์ 8:27; เปรียบเทียบกับกิจการ 7:48[7])

      แต่พระเจ้าผู้ไม่มีขีดจำกัด ด้วยความรักและความเมตตาของพระองค์ ก็ทรงพอพระทัยที่จะประทับอยู่ในพระนิเวศที่สร้างขึ้นโดยประชากรของพระองค์ที่ทรงเลือก ซึ่งก็คือชนอิสราเอล และที่พระนิเวศนี้จะเต็มด้วยสิริและการปรากฏของพระองค์

หมายเหตุ: พลับพลา ในภาษาอังกฤษเป็นคำนาม ไม่ใช่คำกริยา แต่ในภาษากรีกมีทั้งในรูปของคำกริยา skēnoō (ตั้งพลับพลาอยู่ใน) และในรูปของคำนาม skēnē (พลับพลา) พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับของ BDAG กล่าวว่าคำนามนี้ใช้ในฉบับเซปทัวจินต์ (LXX) ว่า “พลับพลาของพระยาห์เวห์” พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับของ BDAG กล่าวอย่างมีนัยสำคัญว่า คำกริยานี้ในยอห์น 1:14 “เป็นไปได้ว่า แสดงถึงความต่อเนื่องกันกับ ‘การปักเต็นท์’ ของพระเจ้าในอิสราเอล”

 

ในยอห์น 1:14 คำว่า “ท่ามกลางเรา” แท้จริงคือ “ในเรา” ข้อเท็จจริงที่ทำให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพอ่อนลงไปเลย

  ารแปลแบบทั่วไปของยอห์น 1:14b (“ประทับอยู่ท่ามกลางเรา”) พบว่ามีข้อบกพร่องสองประการ และในแต่ละกรณีนั้น คำกรีกที่สำคัญไม่ได้ถูกแปลตามความหมายหลักหรือความหมายตรงตามคำของมัน เราได้กล่าวถึงกรณีแรกไปแล้วว่า ในต้นฉบับเดิมภาษากรีกนั้น คำว่า “ประทับอยู่” ไม่ได้มาจากคำกรีกทั่วไปว่า “พำนักอยู่” หรือ “อาศัยอยู่” แต่มาจากคำพิเศษที่หมายถึง “การตั้งพลับพลาอยู่ใน” หรือ “การปักเต็นท์อยู่ใน” ข้อเท็จจริงนี้เป็นที่รู้จักกันดีและถูกกล่าวถึงในพระคัมภีร์ฉบับศึกษาจำนวนมาก

      แต่กรณีที่สองมีความสำคัญมากกว่า เพราะมันทำให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพอ่อนลงไปเลย การแปลแบบทั่วไปว่า “ท่ามกลางเรา” ในยอห์น 1:14b (“ประทับอยู่ท่ามกลางเรา”) นั้นไม่พอ เพราะภาษากรีกใช้ “ในเรา” ถ้อยคำตรงๆในภาษากรีกคือ eskēnōsen en hēmin (“ได้ปักเต็นท์อยู่ในเรา”)[8] โดยที่ en เป็นคำบุพบททั่วไปของภาษากรีกสำหรับ “ใน” หากการสะกดคำ en ดูคุ้นชิน นั่นเป็นเพราะคำภาษาอังกฤษว่า “in” มาจากคำภาษากรีกว่า “en” ทางภาษาละติน “in” และภาษา อังกฤษโบราณ “in” (พจนานุกรมอังกฤษฉบับอ็อกซ์ฟอร์ด)

  มันเป็นความจริงที่ชัดเจนว่า “ท่ามกลางเรา” ในยอห์น 1:14 นั้นคำตรงตัวคือ “ในเรา” ที่สังเกตโดย เรย์มอนด์ อี บราวน์ นักวิชาการพระคัมภีร์ใหม่ที่มีชื่อเสียง

  บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพปฏิเสธ “ในเรา” แม้ว่าจะเป็นการแปลตรงตามคำของ en hēmin และเป็นคำศัพท์ที่เป็นไปได้มากกว่า “ท่ามกลางเรา” เป็นเรื่องน่าแปลกใจ ซึ่งตรงข้ามกับการใช้ตามปกติของพวกเขา ที่พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษฉบับต่างๆ ไม่ได้ระบุไว้ในเชิงอรรถว่ายอห์น 1:14 ในต้นฉบับภาษากรีกที่ว่า “ท่ามกลางเรา” นั้นหมายความตรงตัวว่า “ในเรา” หรืออย่างน้อยก็ระบุว่า “ในเรา” เป็นทางเลือกในการอ่าน การปิดบังนี้อาจเป็นการบอกให้รู้แต่แรกแล้วว่า “ในเรา” ไม่ได้ให้การสนับสนุนความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

  คำว่า “ในเรา” ทำให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพอ่อนลงไปเลย ด้วยเหตุผลโดยเฉพาะคือ ยอห์นกำลังพูดว่าพระวาทะ “มาเป็นเนื้อหนัง” โดยการปักเต็นท์อยู่ “ในเรา” คือในคนของพระเจ้า! แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพต้องการ พวกเขาให้ความสำคัญกับ “ท่ามกลางเรา” ที่ไม่ได้ตรงตามคำ เพื่อจะบอกเป็นนัยว่า พระวาทะกลายมาเป็นบุคคล คือพระเยซูคริสต์ที่ตอนนี้ทรงมีชีวิตอยู่ “ท่ามกลางเรา” โดยการจุติลงมาเกิด นั่นก็คือ พระวาทะกลายมาเป็นเนื้อหนังในพระเยซู มากกว่าที่จะมาเป็นเนื้อหนัง “ในเรา”

  ความหมายตามตัวอักษรว่า “ในเรา” จะลบล้างความเป็นพระเจ้าของพระเยซูในยอห์น 1:1 และการจุติลงมาเกิดของพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ในยอห์น 1:14 โดยปฏิเสธการระบุตัวตนของ “พระวาทะ” กับพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของข้อเชื่อของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

  ตอนนี้เราจะนำเสนอหลักฐานทางพระคัมภีร์เกี่ยวกับ “ในเรา” ในเจ็ดประเด็น

 

ประเด็นที่ 1 ในยอห์น, en ไม่เคยหมายถึง “ท่ามกลาง”

      คำกรีก en มีปรากฏ 474 ครั้งในการเขียนของยอห์น (226 ครั้งในพระกิตติคุณของเขา, 90 ครั้งในจดหมายของเขา, 158 ครั้งในวิวรณ์) คำถามสำคัญก็คือว่า ใน 474 ครั้งนี้ มีกี่ครั้งที่มีความหมายว่า “ท่ามกลาง”? ทางหนึ่งที่จะได้คำตอบที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพยอมรับได้ก็คือ การที่พระคัมภีร์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ เช่น ฉบับนิวอเมริกันแสตนดาร์ด[9] จะทำการ “นับ” ให้เรา ด้วยวิธีการแปลที่เป็นตามความจริง

      หากคุณยินดีที่จะทำงานอย่างหนักโดยค้นดูทั้ง 474 ตัวอย่าง นี่จะเป็นผลสรุปที่ได้ในที่สุด คือจาก 473 ตัวอย่างของ en ในการเขียนของยอห์นที่นอกจากยอห์น 1:14 ซึ่งเป็นปัญหานั้น มีเพียง 7 ตัวอย่างที่ได้แปลว่า “ท่ามกลาง” โดยฉบับนิวอเมริกันแสตนดาร์ด (ยอห์น 7:12, 9:16, 10:19, 11:54, 12:35, 15:24, วิวรณ์ 2:1) ดังนั้นเอง ถึงแม้โดยการนับของฉบับนิวอเมริกันแสตนดาร์ดเอง en ก็แทบจะไม่เคยหมายถึง “ท่ามกลาง” ซึ่งเป็นความหมายที่มีปรากฏเพียง 1.5% เท่านั้นจากทุกตัวอย่างของ en

      ในทางตรงกันข้าม ฉบับนิวอเมริกันแสตนดาร์ดแปล en ว่า “ใน” ในกว่า 95% ของตัวอย่าง ดังนั้นการเลือกแปล “ท่ามกลางเรา” มากกว่า “ในเรา” ในยอห์น 1:14 นั้นดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลจากคำสอนสืบทอด

 

ประเด็นที่ 2 ในการเขียนของยอห์นที่นอกจากยอห์น 1:14, en hemin มักจะหมายถึง “ในเรา” และไม่เคยหมายถึง “ท่ามกลางเรา”

      แทนที่จะเป็น en คำเดียว แล้วกลุ่มคำ en hēmin ที่เราเห็นในยอห์น 1:14 ล่ะ? คำแปลที่ถูกต้องและตรงตัวของกลุ่มคำนี้ก็คือ “ในเรา” มากกว่า “ท่ามกลางเรา”

      นี่คือข้อเท็จจริงที่สำคัญ คือในการเขียนของยอห์นที่นอกจากยอห์น 1:14 ที่ถกเถียงกันนั้น en hemin มักจะหมายถึง “ในเรา” และไม่เคยหมายถึง “ท่ามกลางเรา” โดยไม่มีข้อยกเว้น! ดังนั้นการแปลยอห์น 1:14 ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ว่า “ท่ามกลางเรา” จึงเป็นเรื่องไม่คุ้นกับความเข้าใจ en hēmin ของยอห์น

      ในการเขียนของยอห์นนั้น en hemin (“ในเรา”) สอดคล้องกันในความหมาย ขอย้ำว่าในงานเขียนของเขาที่นอกจากยอห์น 1:14 ที่ถกเถียงกันนั้น en hemin มักจะหมายถึง “ในเรา” และไม่เคยหมายถึง “ท่ามกลางเรา” โดยไม่มีข้อยกเว้น

      ข้อมูลเฉพาะเจาะจงก็คือ นอกจากยอห์น 1:14 แล้ว en hemin มีปรากฏสิบครั้งในการเขียนของยอห์น ที่น่าสนใจก็คือ ฉบับนิวอเมริกันแสตนดาร์ดไม่เคยแปลการปรากฏทั้งสิบครั้งนี้ว่า “ท่ามกลางเรา” แต่มักจะแปลว่า “ในเรา” เสมอ ข้อยกเว้นคือ 1 ยอห์น 4:16[10] ที่ฉบับนิวอเมริกันแสตนดาร์ดไม่ได้ใช้ “ในเรา” หรือ “ท่ามกลางเรา” แต่ใช้ “ต่อเรา” แต่มีแนวโน้มที่จะเป็น “ในเรา” มากกว่า (เหมือนในพระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิช[11]) เพราะนั่นเป็นวิธีที่ฉบับนิวอเมริกันแสตนดาร์ดแปลอีกสี่ตัวอย่างของ en hēmin ในบทเดียวกันเลย (ข้อ 9,12,12,13)

      นี่เป็นการใช้ที่ตรงไปตรงมา เพื่อจะยืนยันว่า “ท่ามกลางเรา” ไม่สอดคล้องแต่อย่างใดในสิบตัวอย่างต่อไปนี้ของ en hemin (ข้อทั้งหมดอ้างอิงจากฉบับนิวอเมริกันแสตนดาร์ด ให้สังเกตคำที่เป็นตัวพิมพ์หนา)

 

ยอห์น 17:21 ...แม้แต่พระองค์ผู้เป็นพระบิดาก็อยู่ในข้าพระองค์ และข้าพระองค์ในพระองค์ เพื่อพวกเขาจะ​​อยู่ในเราด้วย...

         1 ยอห์น 1:8 ถ้าเราจะบอกว่าเราไม่มีบาป เราก็กำลังหลอกตัวเองและความจริง

       ไม่ได้อยู่ในเราเลย

       1 ยอห์น 1:10 ถ้าเราบอกว่าเราไม่ได้ทำบาป เราก็ทำให้พระองค์เป็นผู้ตรัสมุสา

       และพระดำรัสของพระองค์ก็ไม่ได้อยู่ในเราเลย

         1 ยอห์น 3:24 ...พวกเราจึงรู้จากข้อนี้ว่าพระองค์สถิตอยู่ในเรา​ ​โดยพระวิญญาณที่

       พระองค์ประทานแก่เรา

         1 ยอห์น 4:9 โดยข้อนี้ความรักของพระเจ้าก็เป็นที่ประจักษ์ในเรา[12]...

             

1 ยอห์น 4:12 ...ถ้าเรารักกันและกัน พระเจ้าก็ทรงอยู่ในเรา[13] และความรักของพระองค์ก็บริบูรณ์ในเรา [en hemin ปรากฏสองครั้งในข้อนี้]

         1 ยอห์น 4:13 โดยข้อนี้ เราจึงรู้ว่าเราอยู่ในพระองค์และพระองค์ทรงอยู่ในเรา

       เพราะพระองค์ได้ประทานพระวิญญาณของพระองค์เองแก่เรา

         1 ยอห์น 4:16 เราจึงรู้ และเชื่อในความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อเรา...

       [มีแนวโน้มที่จะเป็น “ในเรา” ดังที่เราได้กล่าวไปแล้ว]

       2 ยอห์น 1:2 เพราะความจริงที่อยู่ในเรา

     

 

 

ประเด็นที่ 3 ในการเขียนของยอห์น, en hemin มักจะใช้หมายถึง

“พระเจ้าทรงสถิตอยู่ในเรา”

      คำว่า “อยู่” ในข้อต่างๆข้างต้นนี้จะทำให้กับผู้อ่านยุคใหม่บางคนสับสน เพราะฉบับนิวอเมริกันแสตนดาร์ดใช้ “อยู่” ในความหมายของ “อาศัยอยู่” หรือ “พำนักอยู่” ซึ่งเป็นความหมายโบราณของ “อยู่” (พจนานุกรมอังกฤษฉบับอ็อกซ์ฟอร์ด)[14] แต่เราได้ความเข้าใจลึกขึ้นเมื่อเราอ่านสามข้อจากฉบับนิวอินเตอร์เนชันแนล[15]ที่อ่านง่ายกว่า (ให้สังเกตคำที่เป็นตัวหนา)

 

         1 ยอห์น 3:24 ผู้ใดเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า ผู้นั้นก็อยู่ในพระองค์และ

       พระองค์ก็ทรงอยู่ในผู้นั้น เช่นนี้แหละ เราจึงรู้ว่าพระองค์ทรงอยู่ในเรา คือเรารู้

       โดยพระวิญญาณที่พระองค์ได้ประทานแก่เรา

 

       1 ยอห์น 4:12 ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้า แต่ถ้าเรารักกันและกัน พระเจ้าก็ทรง

      อยู่ในเราและความรักของพระองค์ก็บริบูรณ์ในเรา

       1 ยอห์น 4:13 นี่แหละ เราจึงรู้ว่าเราอยู่ในพระองค์และพระองค์ทรงอยู่ในเรา

       เพราะพระองค์ได้ประทานพระวิญญาณของพระองค์แก่เรา

 

 

      ในสามข้อนี้ แนวความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าที่ประทับอยู่ในเรานั้น เห็นได้ชัดอย่างมากจากที่ว่า “พระองค์ทรงอยู่ในเรา” (3:24), “พระเจ้าก็ทรงอยู่ในเรา” (4:12), “เราอยู่ในพระองค์และพระองค์ทรงอยู่ในเรา” (4:13) สิ่งนี้สนับสนุนกรณีการแปลตรงตามคำว่า “ได้ปักเต็นท์อยู่ในเรา” ในยอห์น 1:14 โดยพิสูจน์ว่าการแปล “ได้ปักเต็นท์อยู่ในเรา” นั้นถูกต้องไม่เฉพาะแค่ทางคำศัพท์และไวยากรณ์ แต่ยังสอดคล้องในทางศาสนศาสตร์กับแนวคิดของยอห์นเกี่ยวกับการที่พระเจ้าประทับอยู่ “ใน” ประชากรของพระองค์

 

ประเด็นที่ 4 ยอห์นแยกความแตกต่างของคำ “ในเรา” กับ “ท่ามกลางเรา” โดยใช้คำกรีกสองคำที่แตกต่างกัน ที่เว้นไป 12 ข้อ

ขอย้ำอีกครั้งว่า นอกเหนือจากยอห์น 1:14 ที่ถกเถียงกันนั้น ยอห์นไม่เคยใช้ en hēmin ว่าหมายถึง “ท่ามกลางเรา” แต่จะหมายถึง “ในเรา” เสมอ โดยไม่มีข้อยกเว้น ในกรณีนี้ยอห์นเคยใช้คำกรีกที่นอกจาก en เพื่อหมายถึง “ท่ามกลางเรา” หรือไม่? คำตอบก็คือยอห์นเคยใช้ เพราะในยอห์น 1:26 แค่เพียง 12 ข้อต่อมา เขาก็บันทึกถ้อยคำต่อไปนี้จากยอห์นผู้ให้บัพติศมาว่า “แต่​มี​คน​หนึ่ง​ยืน​อยู่​ท่าม​กลาง​พวก​ท่าน​ที่​ท่าน​ไม่​รู้​จัก” คำกรีกตรงนี้สำหรับ “ท่าม​กลาง​” ก็คือ mesos ซึ่งแตกต่างจาก en ในยอห์น 1:14 ดังนั้นภายในระยะห่างกันแค่ 12 ข้อ ยอห์นก็ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “ใน” กับ “ท่าม​กลาง​” โดยใช้สองคำที่แตกต่างกันคือ en และ mesos การใช้ปนกันของคำ “ท่ามกลางเรา” และ “ในเรา” ในยอห์น 1:14 ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นไม่มีเหตุผลอันควร

 

ประเด็นที่ 5 การแปล “ในเรา” กับยอห์น 1:14 เป็นสิ่งที่รู้กันในประวัติศาสตร์คริสตจักร

      ไม่มีอะไรที่แปลกใหม่เลย หรือไม่น่าเชื่อเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ en hēmin มีความหมายตรงตัวว่า “ในเรา” มากกว่า “ท่ามกลางเรา” นี่เป็นข้อเท็จจริงพื้นฐานของภาษากรีก ถ้าคุณจะขอใครก็ได้ที่รู้ภาษากรีกในพระคัมภีร์อยู่บ้าง ให้แปล en hēmin โดยไม่ได้ให้เขาหรือเธอดูยอห์น 1:14 เขาหรือเธอก็จะบอกคุณได้ทันทีว่า “ในเรา” ด้วยสีหน้าปกติ

      ในความเป็นจริงแล้ว บุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนมากในประวัติศาสตร์คริสตจักรตั้งแต่คริสตจักรยุคแรกมาจนถึงปัจจุบัน ได้ใช้ยอห์น 1:14 ให้หมายถึง “ในเรา” มีตัวอย่างบางส่วนดังต่อไปนี้

 

เจอโรม (347-420) ผู้แปลหลักของพระคัมภีร์ภาษาละติน[16]

ออกัสติน (354-430) นักศาสนศาสตร์ผู้มีอิทธิพลที่สุดของคริสตจักรละติน

 • ธีโอดอร์แห่งอันทิโอก (350-428) บิชอปแห่งม็อบเซสเตีย[17] ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในเรื่องการวิจารณ์เชิงประจักษ์ของเขาเกี่ยวกับวิธีการเปรียบเทียบของการตีความพระคัมภีร์

 • จอห์น วิคลิฟ[18] (1331-1384) นักแปลพระคัมภีร์ ที่ในพระคัมภีร์ของวิคลิฟจะมีหมายเหตุเกี่ยวกับยอห์น 1:14 ว่า “ประทับอยู่ท่ามกลางเรา” นั้นจริงๆ แล้วก็คือ “อยู่ในเรา”

 • จอร์ช ฟอกซ์ (1624-1691) ผู้ก่อตั้งกลุ่มเควกเกอร์[19] เป็นผู้ที่กล่าวว่า en hēmin มักจะแปลผิดๆว่า “ท่ามกลางเรา” (เขาพูดว่ามันควรจะเป็น “ในเรา”)

 • แอลเลน ดี แคลลาแฮน ผู้รับใช้ของนิกายแบ็บติสต์ และรองศาสตราจารย์ด้านพระคัมภีร์ใหม่แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นผู้เขียนหนังสือ ความรักยิ่งใหญ่ที่สุด: ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคำสอนสืบทอดของยอห์น[20] (หน้า 51)

 • เรย์มอนด์ อี บราวน์[21]เป็นหนึ่งในนักวิชาการในพระคัมภีร์ใหม่ที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่20  ในคู่มืออธิบายสองเล่มของเขาเกี่ยวกับพระกิตติคุณยอห์นที่ได้รับการยกย่องในชุด Anchor-Yale (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล) บราวน์ตั้งข้อสังเกตว่า “ท่ามกลางเรา” ในยอห์น 1:14 นั้นคำตรงตัวก็คือ “ในเรา”

 

ความหมายว่า “พระเจ้าในเรา” นี้มีให้เห็นบ่อยครั้งในงานเขียนของออกัสติน เช่น การขยายความของเขาจากสดุดี 68 ในคำสารภาพของเขา เขาจะพูดถึงพระเจ้าว่าประทับอยู่ในประชากร “เพราะเมื่อฉันร้องทูลพระองค์ ฉันขอให้พระองค์ทรงเข้ามาในฉัน และมีที่ไหนในฉันหรือ ที่พระเจ้าของฉันจะสามารถเข้ามาได้? จะเป็นได้อย่างไรที่พระเจ้าผู้ทรงสร้างทั้งสวรรค์และแผ่นดินโลกจะเข้ามาในฉัน” (คำสารภาพ, เล่มที่ 1, บทที่ 2)[22]

  เจอโรมน่าจะเป็นนักวิชาการพระคัมภีร์ที่โดดเด่นที่สุดของคริสตจักรในยุคแรก ในคู่มืออธิบายพระคัมภีร์ของคริสเตียนสมัยโบราณ 29 เล่มนั้น ในเล่มที่ 4 กล่าวว่า “โดยทั่วไปแล้ว เจอโรมได้ถูกมองว่าเป็นนักวิชาการที่ยอดเยี่ยมที่สุดในบรรดาบรรพบุรุษผู้มีความเชื่อของคริสตจักรในยุคแรก และได้รับการขนานนามว่าเป็นนักวิชาการด้านพระคัมภีร์ที่โดดเด่นที่สุด เท่าที่เคยมีในประวัติศาสตร์ของคริสตจักรละติน

เจอโรมเป็นผู้แปลหลักของวัลเกท[23] (ที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า วัลเกทภาษาละติน) คือพระคัมภีร์ภาษาละตินที่แปลจากแหล่งข้อมูลภาษากรีกและภาษาฮีบรูที่มีให้เขา วัลเกทแปลคำกรีก en hēmin ในยอห์น 1:14 เป็นภาษาละตินว่า in nobis (ดูข้อความภาษาละตินที่สำคัญนี้โดยสมาคมพระคริสตธรรมเยอรมัน) ซึ่งในบริบททางโลกมักจะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “in us” (ในเรา) ดังตัวอย่างเช่น in nobis ที่รู้จักกันดีในภาษาอังกฤษทาง est deus in nobis ซึ่งกล่าวโดยออวิด[24] กวีชาวโรมัน ที่หมายความว่า “มีพระเจ้าอยู่ในเรา” หรือ “มีพระเจ้าอยู่ภายในเรา”

 

ประเด็นที่ 6 คำสอนของยอห์นว่าพระวาทะ “ปักเต็นท์อยู่ในเรา”

ก็สอดคล้องกับคำสอนของเปาโลว่า พระเจ้าสถิตอยู่ในเราซึ่งเป็นวิหารของพระเจ้า

      คำประกาศที่สำคัญมากของยอห์นว่า พระวาทะ “ปักเต็นท์อยู่ในเรา” (แปลตรงตัว) สอดคล้องกับคำสอนของเปาโลว่าเราเป็นวิหารที่พระเจ้าสถิตอยู่ คำสอนของเปาโลจะเห็นได้ในพระคัมภีร์ตอนต่อไปนี้ ข้อทั้งหมดอ้างอิงมาจากพระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิช ให้สังเกตคำที่เป็นตัวพิมพ์หนา

 

ท่านทั้งหลายรู้ไหมว่าท่านเป็นวิหารของพระเจ้า และพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ในท่าน (1 โครินธ์ 3:16)

ท่านไม่รู้​​หรือว่า ร่างกายของ​​ท่านเป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่สถิตอยู่ในท่าน..? (1 โครินธ์ 6:19)

...พระเยซูคริสต์เองทรงเป็นศิลา​​มุมเอก ในพระองค์นั้น ทุกส่วนของโครงร่างซึ่งถูกเชื่อมต่อกันนั้น เจริญขึ้นเป็นวิหารอันบริสุทธิ์ในองค์พระผู้เป็นเจ้า ในพระองค์นั้น ท่านก็​​กำลังรับการสร้างขึ้นด้วยกันให้เป็นที่ประทับของพระเจ้าโดยพระวิญญาณ (เอเฟซัส 2:20-22)

 

      พระคัมภีร์ทั้งสามตอนนี้รวมกันแล้วมีตัวอย่างคำว่า “ท่าน” หรือ “ของท่าน” ทั้งหมด 11 ครั้ง ซึ่งทั้งหมดเป็นคำพหูพจน์ในภาษากรีก รูปของพหูพจน์เผยให้เห็นการรวมกันของคนของพระเจ้า ว่าเป็นวิหารของพระเจ้าโดยมีพระคริสต์เป็น “ศิลามุมเอก” (เอเฟซัส 2:20)

    โปรดสังเกตความคล้ายกันระหว่างเปาโลกับยอห์น ที่เปาโลกล่าวว่าพระเจ้าสถิตอยู่ในเราซึ่งเป็นวิหารของพระเจ้า ก็เหมือนที่ยอห์น 1:14 กล่าวว่าพระวาทะ (ผู้เป็นพระเจ้า) “ตั้งพลับพลาอยู่ในเรา” (คำแปลตรงตัวของยอห์น 1:14)

    พระคริสต์ทรงเป็นวิหารของพระเจ้า และเราก็เป็นวิหารของพระเจ้าเช่นกัน แต่มีเพียงวิหารเดียวคือวิหารของพระเจ้า ซึ่งมีพระคริสต์เป็นศิลามุมเอก (ใช้โครงร่างเป็นการเปรียบเปรย) หรือเทียบกับร่างกายที่มีพระคริสต์เป็นศีรษะ (ใช้ร่างกายเป็นการเปรียบเปรย)

      เปาโลใช้การเปรียบเปรยที่เหมือนๆกันสองอย่างคือ ตัวโครงร่าง (ของวิหาร) และร่างกาย (พระกายของพระคริสต์) เช่นเดียวกับที่มีวิหารของพระเจ้าเพียงวิหารเดียวในพระคัมภีร์เดิม ในพระคัมภีร์ใหม่ก็มีวิหารเดียวของพระเจ้าเพียงวิหารเดียวเช่นกัน หรือเทียบกับพระกายเดียวของพระคริสต์ ซึ่งก็คือคริสตจักร (เอเฟซัส 5:23; โคโลสี 1:18)[25]

      ในพระคัมภีร์เดิมนั้น พลับพลาไม่ใช่ตัวพระเจ้าเองหรือเป็นพระเจ้า แต่เป็นการประทับอยู่ของพระเจ้า ในทำนองเดียวกันกับในพระคัมภีร์ใหม่ ที่วิหารของพระเจ้าซึ่งประกอบด้วยประชากรของพระเจ้า (โดยมีพระคริสต์เป็นศีรษะ) นั้น ไม่ใช่ตัวพระเจ้าเองหรือเป็นพระเจ้า แต่เป็นการประทับอยู่ของพระเจ้าที่เต็มไปด้วยพระสิริของพระองค์ (เปรียบเทียบกับอพยพ 40:34[26] “พระสิริของพระยาห์เวห์ปรากฏอยู่เต็มพลับพลา”)

      พระสิริของพระเจ้าส่องแสงเจิดจ้าที่สุดในพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นศิลามุมเอกของวิหาร และเป็นศีรษะของกาย เหมือนที่เปาโลกล่าวถึง “พระสิริของพระเจ้าที่ปรากฏบนพระพักตร์ของพระเยซูคริสต์” (2 โครินธ์ 4:6) ยอห์นก็กล่าวอย่างเดียวกันว่า “และเราได้เห็นพระสิริของพระองค์ คือพระสิริที่สมกับพระบุตรองค์เดียวของพระบิดา บริบูรณ์ด้วยพระคุณและความจริง” (ยอห์น 1:14)

 

ประเด็นที่ 7 ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่ในพระคริสต์และในเรา!

 

      ในที่สุด ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าก็ดำรงอยู่ในพระคริสต์

เพราะว่าพระเจ้าพอพระทัย ที่จะให้ความบริบูรณ์ทั้งหมดของพระองค์ดำรงอยู่ในพระบุตร (โคโลสี 1:19 ฉบับ NIV)

     เพราะว่าในพระคริสต์นั้น ความบริบูรณ์ทั้งหมดของพระเจ้าดำรงอยู่ในรูปกายของพระองค์ (โคโลสี 2:9 ฉบับ NIV)

 

      เปาโลกำลังบอกว่าความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้า (โคโลสี 1:19) โดยแท้จริงแล้ว “ความบริบูรณ์ทั้งหมดของพระเจ้า” (2:9) อยู่ใน “พระกาย” ของพระคริสต์

      มันคงจะเป็นเรื่องน่าตกใจสำหรับบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ที่ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าก็อยู่ในคนของพระเจ้าด้วยเช่นกัน เพราะเปาโลกล่าวว่า “เพื่อ​​ท่าน​จะ​ได้​ความ​บริ​บูรณ์​ของ​พระ​เจ้า​อย่าง​เต็ม​เปี่ยม” (เอเฟซัส 3:19) คำว่า “ท่าน” ในข้อนี้เป็นพหูพจน์เพราะคำว่า “เต็มเปี่ยม” เป็นคำพหูพจน์ในภาษากรีก สิ่งนี้แสดงให้เห็นการรวมกันของคนของพระเจ้าซึ่งเป็นที่ประทับของพระเจ้า ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความบริบูรณ์ทั้งหมดของพระองค์ แท้จริงแล้วเราเป็น “ที่ประทับของพระเจ้าโดยพระวิญญาณ” (เอเฟซัส 2:22)[27]


[1] ฉบับ ESV, ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลยอห์น 1:14 ว่า พระวาทะทรงเกิดเป็นมนุษย์และทรงอยู่ท่ามกลางเรา”, ฉบับไทยคิงเจมส์ แปลว่า “พระวาทะได้ทรงสภาพของเนื้อหนัง และทรงอยู่ท่ามกลางเรา” (ผู้แปล)

[2] dwelt among us”

[3] dwell” or “live”

[4] to tent in”; “to tabernacle in”

[5] God’s Shekinah glory

[6] Shekinah

[7] กิจการ 7:48 “องค์ผู้สูงสุดก็ไม่ได้ประทับในพระนิเวศที่มือมนุษย์ทำไว้ ตามที่ผู้เผยพระวจนะกล่าวไว้

[8] “tented in us”

[9] New American Standard Bible (NASB)

[10] พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลเหมือนกันว่า “ต่อเรา” ( ฉะนั้นเราจึงรู้ และวางใจในความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อเรา”) ผู้แปล

[11] New English Translation (NET)

[12] ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “ความรักของพระเจ้าก็เป็นที่ประจักษ์แก่เราโดยข้อนี้” (ผู้แปล)

[13] ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “ถ้าเรารักกันและกัน พระเจ้าก็สถิตอยู่ในเรา” (ผู้แปล)

[14] Oxford English Dictionary

[15] New International Version (NIV)

[16] Jerome, Latin Vulgate

[17] Theodore of Antioch (350-428), bishop of Mopsuestia

[18] John Wycliffe

[19] George Fix, Quakers เป็นกลุ่มสังคมทางศาสนาของเพื่อนๆ หรือกลุ่มเพื่อนๆของคริสตจักร

[20] Allen D. Callahan, A Love Supreme: A History of the Johannine Tradition

[21] Raymond E Brown

[22] Confessions, Book 1, chapter 2

[23] Vulgate คือพระคัมภีร์ที่เขียนเป็นภาษาละติน

[24] Ovid

[25] เอเฟซัส 5:23 เพราะว่าสามีเป็นศีรษะของภรรยา เหมือนพระคริสต์ทรงเป็นศีรษะของคริสตจักรซึ่งเป็นพระกายของพระองค์ โดยพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด

[26] อพยพ 40:34 ในขณะนั้นมีเมฆมาปกคลุมเต็นท์นัดพบไว้ และพระรัศมีของพระยาห์เวห์ก็ปรากฏอยู่เต็มพลับพลานั้น

[27] ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “เป็นที่สถิตของพระเจ้าโดยพระวิญญาณ” (ผู้แปล)