pdf pic

 

 

บทส่งท้าย

 

 ch1 1

 

พระสิริของพระเจ้า

 

ที่ปรากฏบนพระพักตร์ของพระเยซูคริสต์

 

 

 

      เหตุการณ์ที่พิเศษในการจำแลงพระกายของพระเยซูได้ถูกบันทึกไว้ให้เราในมัทธิว มาระโก และลูกา แต่ไม่ได้อธิบายความหมายไว้ในพระกิตติคุณเหล่านี้ เรื่องราวเกี่ยวกับการจำแลงพระกายต่อไปนี้มาจากมัทธิว ตามด้วยข้อความที่ตัดตอนมาจากเรื่องราวจากลูกา

 

มัทธิว 17:1-12 1ครั้นล่วงไปได้หกวันแล้ว พระเยซูทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์นน้องชายของยากอบขึ้นไปบนภูเขาสูงตามลำพัง 2แล้วพระกายของพระองค์ก็​​เปลี่ยน​​ไปต่อหน้าพวกเขา และพระพักตร์ของพระองค์ทอแสงเหมือนดวงอาทิตย์ ฉลองพระองค์ก็ขาว​​เหมือนกับแสงสว่าง 3ดูเถิด โมเสสและเอลียาห์ก็มาปรากฏตัวกับพวกเขา และพูดคุยกับพระองค์ 4แล้วเปโตรจึงทูลพระเยซูว่า “องค์​​ผู้เป็นเจ้า ดีจริงที่พวกเราอยู่กันที่นี่ ถ้าพระองค์ทรงประสงค์ ข้าพระองค์จะทำเพิงสามหลังที่นี่ สำหรับพระองค์หลังหนึ่ง สำหรับโมเสสหลังหนึ่ง สำหรับเอลียาห์หลังหนึ่ง” 5ขณะที่เปโตรกำลังทูลอยู่นั้น ดูเถิด มีเมฆสุกใสมาปกคลุมพวกเขาไว้ แล้วมีพระสุรเสียงดังมาจากเมฆ​​ว่า “ผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา ที่เราพอใจ​​มาก จงเชื่อฟังเขาเถิด” 6เมื่อพวกสาวกได้ยิน พวกเขาก็ซบหน้าลงถึงดินและตกใจกลัวยิ่งนัก 7แต่พระเยซูได้เสด็จมาใกล้และทรงสัมผัสตัวพวกเขา ตรัสว่า “ลุกขึ้นเถิด อย่ากลัวเลย” 8และเมื่อพวกเขาเงยหน้าขึ้นดูก็ไม่เห็นใคร นอกจากพระเยซู 9เมื่อพวกเขาลงมาจากภูเขาพระเยซูตรัสสั่งพวกเขาว่า “อย่าเล่าสิ่งที่ท่าน​​เห็นนั้นให้ใครฟัง จนกว่าบุตรมนุษย์จะเป็นขึ้นมาจากความตาย” 10แล้วพวกสาวกก็ทูลถามพระองค์ว่า “แล้วทำไมพวกธรรมาจารย์จึงบอกว่า ‘เอลียาห์จะต้องมาก่อน?’” 11พระเยซูตรัสตอบว่า “เอลียาห์จะมาจริง และจะทำให้ทุกสิ่งคืนสู่สภาพเดิม 12แต่เราบอกพวกท่านว่าเอลียาห์นั้นมาแล้ว และพวกเขาไม่รู้จักท่าน แต่พวกเขาได้ทำกับท่านตามใจชอบฉะนั้นบุตรมนุษย์ก็จะต้องทนทุกข์ด้วยน้ำมือของพวกเขาเช่นกัน” (ฉบับ ESV)

ลูกา 9:30-32 30และดูเถิด มีชายสองคนสนทนาอยู่กับพระองค์ คือโมเสสกับเอลียาห์ 31ผู้มาปรากฏกายด้วยสิริ[1] และพูดถึงการจากไปของพระองค์ที่กำลังจะสำเร็จที่กรุงเยรูซาเล็ม 32ส่วนเปโตรกับคนที่อยู่ด้วยนั้นกำลังง่วงเหงาหาวนอน แต่เมื่อพวกเขาตาสว่างขึ้น เขาก็เห็นพระสิริของพระองค์และเห็นชายสองคนนั้นที่ยืนอยู่กับพระองค์ (ฉบับ ESV)

 

      การจำแลงพระกายของพระเยซูเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอิสราเอล แม้จะมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อโมเสสลงมาจากภูเขาซีนายหลังจากที่พบกับพระเจ้า คือที่ใบหน้าของโมเสสทอแสงจ้าจนไม่มีใครสามารถมองหน้าเขาได้ จึงต้องใช้ผ้าคลุมหน้าเขาไว้ (อพยพ 34:29-35) แต่การแสดงพระสิริที่ยิ่งใหญ่กว่าเกิดขึ้นในการจำแลงพระกาย โดยที่พระพักตร์ของพระเยซูทอแสงเหมือนกับดวงอาทิตย์ และฉลองพระองค์ก็เปล่งแสง พระสิริที่ทอแสงผ่านพระเยซูนั้นยิ่งใหญ่กว่าที่ทอแสงผ่านโมเสสบนภูเขาซีนายมากนัก แม้ว่าในทั้งสองกรณีนั้นจะเป็นพระสิริของพระยาห์เวห์ที่ทอแสงออกมาอย่างไม่ต้องสงสัย

      พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG[2] ภายใต้หัวข้อ metamorphoō (ถูกเปลี่ยนรูป) ไม่มีเหตุผลที่ดีและปราศจากพื้นฐานของพระคัมภีร์ในการแสดงความเห็นตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่า พระเยซูที่จำแลงพระกายนั้นกำลังแสดงให้เห็นถึงพระสิริของพระองค์เองที่มีอยู่ก่อน ข้อเท็จจริงก็คือว่า “พระสิริ” (doxa, ลูกา 9:32) ที่ปรากฏในพระเยซูตอนที่จำแลงพระกายนั้น ไม่ใช่พระสิริของพระองค์ที่อ้างว่ามีอยู่ก่อนแล้ว เช่นเดียวกับ “สิริ” (doxa, ข้อ 31) ที่เห็นในโมเสสและเอลียาห์เมื่อพระเยซูทรงจำแลงพระกายนั้นก็ไม่ได้เป็นสิริที่มีอยู่ก่อนแล้ว พระเยซูตรัสซ้ำๆว่าพระองค์ไม่ได้มีสิ่งใดเลย นอกจากสิ่งที่พระบิดาได้ประทานให้พระองค์ และนี่ก็แน่นอนว่าจะรวมถึงพระสิริของพระเยซู ซึ่งเป็นพระสิริของพระยาห์เวห์ที่ทอแสงผ่านพระองค์ในคำตรัสและการกระทำของพระองค์มาตลอด

      หลายปีต่อมา เปโตรผู้เห็นเหตุการณ์การจำแลงพระกายก็กล่าวอย่างชัดเจนว่า พระสิริของพระเยซูเมื่อทรงจำแลงพระกายนั้น “มาจากพระเจ้าพระบิดา”

 

.... เราเป็นสักขีพยานถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ​​พระองค์ทรงได้รับพระเกียรติและพระสิริจากพระเจ้าพระบิดา เมื่อมีพระสุรเสียงจากพระสิริอันยิ่งใหญ่มาถึงพระองค์ว่า “ผู้นี้เป็นบุตรของเรา​​ที่เรารัก เราพอใจเขามาก” (2 เปโตร 1:16-17 ฉบับ NIV)

 

      ตอนที่พระเยซูทรงจำแลงพระกายนั้น พระสิริของพระยาห์เวห์ได้ทอแสงผ่านโมเสสและเอลียาห์ด้วย โมเสสเป็นผู้ที่พระยาห์เวห์ประทานพระดำรัสของพระองค์เป็นบทบัญญัติ และเอลียาห์เป็นผู้ที่ทำให้คนตายฟื้นขึ้นมา และดังนั้นจึงเผยให้เห็นฤทธิ์อำนาจของพระยาห์เวห์ที่ทรงเป็นผู้ประทานชีวิต

      แม้ว่าพระสิริของพระเจ้าจะทอแสงอย่างเจิดจ้าในพระเยซูมากกว่าในโมเสสและเอลียาห์ เปโตรก็ไม่ได้ทำเพิงเพียงหลังเดียวสำหรับพระเยซูเท่านั้น แต่ทำเพิงสามหลังสำหรับทั้งสามคน แม้ว่าพระเยซูจะเป็นอาจารย์และเป็นผู้นำของเขา แต่ก็ไม่มี “คำสอนแบบเยซูอิสซึ่ม”[3] อยู่ในความคิดของ     เปโตร! โมเสสในฐานะผู้ให้บทบัญญัติ และเอลียาห์ในฐานะตัวแทนผู้เผยพระวจนะของอิสราเอลก็ได้รับเกียรติเหมือนกับพระเยซูในแง่ที่เสนอจะทำเพิงให้ นี่ไม่ได้เป็นการปฏิเสธว่าพระสิริของพระเจ้าที่ทอแสงผ่านพระเยซูนั้นยิ่งใหญ่กว่าที่ทอแสงผ่านอีกสองคน แต่เป็นการปฏิเสธที่พระเยซูจะต้องได้รับยกย่องว่าเป็นเพียงผู้เดียวที่ได้รับความเคารพนับถือจากเหล่าสาวกของพระองค์

      พระพักตร์ที่ทอแสงเจิดจ้าของพระเยซูที่เปล่งประกายเหมือนดวงอาทิตย์ด้วยพระสิริของพระเจ้านั้น ทำให้เหล่าสาวกตกตะลึงและหมอบราบกับพื้นอยู่บนภูเขา หากพวกเขาเคยมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการสถิตอยู่ของพระยาห์เวห์ในพระเยซูละก็ ข้อสงสัยเหล่านี้จะหายไปเมื่อได้เห็นความเจิดจ้าของแสงที่เยี่ยมยอดของพระเจ้า

      การจำแลงพระกายไม่ได้เป็นเพียงครั้งเดียว ที่พระพักตร์ของพระเยซูได้ทอแสงเหมือนดวงอาทิตย์ต่อหน้ายอห์น ต่อมาภายหลังในวิวรณ์ พระเยซูได้ทรงปรากฏกับยอห์นในลักษณะที่คล้ายกับการจำแลงพระกายของพระองค์

 

พระองค์ทรงถือดวงดาวเจ็ดดวงไว้ในพระหัตถ์ขวาของพระองค์ มีดาบสองคมที่คมกริบออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์ และพระพักตร์ของพระองค์เหมือนดั่งดวงอาทิตย์ที่ฉายแสงเจิดจ้า (วิวรณ์ 1:16 ฉบับ ESV)

 

      ในวิวรณ์ ยอห์นเห็นการสำแดงพระสิริที่คล้ายกันในทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์ด้วยใบหน้าที่เปล่งประ กายด้วยแสงที่แรงกล้าของดวงอาทิตย์

 

แล้วข้าพเจ้าเห็นทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์อีกองค์หนึ่งลงมาจากฟ้าสวรรค์ มีเมฆห่อหุ้ม​ ​​มีรุ้งบนศีรษะของท่าน และใบหน้าของท่านเหมือนดั่งดวงอาทิตย์ และขาของท่านเหมือนดั่งเสาเพลิง (วิวรณ์ 10:1 ฉบับ ESV)

 

      ไม่มีใครที่อ่านข้อนี้แล้วจะฉุกคิดว่าทูตสวรรค์องค์นี้เป็นพระเจ้าที่เท่าเทียมกับพระเจ้าพระบิดา ดังนั้นจึงไม่มีพื้นฐานทางพระคัมภีร์ที่จะทำให้พระเยซูเป็นพระเจ้า จากการจำแลงพระกายของพระ องค์ที่ปรากฏให้เห็น

      ระเยซูทรงพาสาวกเพียงแค่สามคนไปกับพระองค์ในการจำแลงพระกาย เหตุใดอีกเก้าคนจึงไม่ได้รวมอยู่ด้วยในการเปิดเผยที่พิเศษนี้ พระกิตติคุณไม่ได้ให้เงื่อนงำอะไรนอกจากข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้งสามคนนี้ได้ถูกจัดลำดับให้เป็นสาวกวงในของพระเยซู แต่เราสามารถพิจารณาความเป็นไปได้หนึ่งหรือสองอย่างโดยไม่ต้องมาถึงบทสรุปที่ดันทุรังแต่อย่างใด

      เหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ ยูดาสผู้ที่จะทรยศพระเยซูเป็นสาวกหนึ่งในสิบสองคน ดังนั้นหากจะให้อีกสิบเอ็ดคนรวมอยู่ในเหตุการณ์ของการจำแลงพระกาย ก็จะไม่มีทางกันยูดาสออกมาโดยไม่สนใจเขา ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากการจำแลงพระกายเป็นความลับที่พระเยซูทรงสั่งไม่ให้ทั้งสามเปิดเผยกับคนอื่น จึงเป็นที่ชัดเจนว่าไม่ควรจะเปิดเผยความลับนี้กับยูดาสสาวกคนที่กำลังจะทรยศพระองค์ เปโตร ยากอบ และยอห์นได้ถูกจัดลำดับให้เป็นสาวกวงในของพระเยซู ดังนั้นในเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งของการจำแลงพระกายนี้ ทั้งสามจึงได้รับอนุญาตให้เห็นเหตุการณ์การเปิดเผยพิเศษเกี่ยวกับพระองค์

      แม้ว่าเราจะไม่คำนึงถึงยูดาส แต่ทำไมจึงต้องจำกัดอยู่ที่จำนวนสามคนด้วย? เหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ พระเจ้าจะทรงเปิดเผยกับผู้ที่มีท่าทีใจและความคิดซึ่งหาได้ยากแม้แต่ในหมู่ผู้ที่ถูกเลือก นี่คือสิ่งที่บรรดาครูผู้ช่ำชองพระคัมภีร์ซึ่งก็คือพระคำของพระเจ้า จะต้องมีความรู้ที่ได้มาด้วยตัวเอง ในช่วงที่ทำพันธกิจในการสอนและการเทศนาของผม ผมไม่ค่อยได้เห็นว่าจะมีบางคนที่สามารถเข้าใจความจริงฝ่ายวิญญาณได้เกือบจะทันทีที่ได้ยินได้ฟัง ในขณะที่คนอื่นๆที่ได้ยินความจริงอย่างเดียวกัน ในเวลาเดียวกันและในที่เดียวกัน ต้องต่อสู้เป็นเวลานานกว่าจะเข้าใจได้หรือไม่ได้เข้าใจเลย จากเรื่องราวของพระกิตติคุณนั้น ดูเหมือนว่ายอห์นจะเข้าใจเรื่องในฝ่ายวิญญาณเป็นพิเศษ สำหรับเปโตรแล้ว แม้ว่าเขาจะช้ากว่ายอห์นสักหน่อย แต่ดูเหมือนว่าระดับความเข้าใจในฝ่ายวิญญาณของเขาก็สูงกว่าระดับทั่วไป (เช่น มัทธิว 16:15-17)[4] สำหรับยากอบนั้น เรารู้เรื่องราวของเขาเพียงเล็กน้อยจากเรื่องราวในพระกิตติคุณ แต่การที่เขาถูกรวมอยู่ในวงในบ่งบอกว่า เขาน่าจะอยู่ในระดับเดียวกับเปโตร

      ปาโลกล่าวถึง “พระสิริของพระเจ้าที่ปรากฏบนพระพักตร์ของพระเยซูคริสต์” (2 โครินธ์ 4:6) คำกล่าวที่ลึกซึ้งนี้บอกทุกสิ่งที่ต้องบอกเกี่ยวกับตัวบุคคล ชีวิต และพันธกิจของพระเยซูคริสต์ พระสิริของพระเจ้าที่ปรากฏบนพระพักตร์ของพระเยซูคริสต์ได้สะท้อนให้เห็นอย่างสมบูรณ์ในเหตุการณ์พิเศษของการจำแลงพระกายนี้

      อะไรคือ “ความลับ” ของการจำแลงพระกายที่สาวกทั้งสามคนต้องเก็บเงียบไว้ช่วงหนึ่ง? มีการอ้างอิงที่สำคัญเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูว่า “นิมิตซึ่งท่านทั้งหลายเห็นนั้น อย่าเล่าให้ใครฟังจนกว่าบุตรมนุษย์จะเป็นขึ้นมาจากความตาย” (มัทธิว 17:9) และ “บุตรมนุษย์ก็จะต้องทนทุกข์ทรมานด้วยน้ำมือของพวกเขาเช่นกัน” (ข้อ 12) ในลูกา 9:31 โมเสสและเอลียาห์พูดถึง “การจากไป” (ฉบับ NIV) หรือ “ความตาย” (ฉบับ HCSB)[5] ของพระเยซู

      หลายปีต่อมา พระเยซูทรงปรากฏกับยอห์นในวิวรณ์และตรัสกับเขาว่า “เราได้ตายแล้ว แต่นี่แน่ะ เรายังดำรงชีวิตอยู่ตลอดไปเป็นนิตย์” (วิวรณ์ 1:18) ซึ่งเป็นคำอธิบายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่พระองค์ตรัสบนภูเขาที่ทรงจำแลงพระกาย สาระสำคัญคู่กันของการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูและการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูประกอบเป็นใจความพื้นฐานของ “ข่าวประเสริฐของพระเจ้า” (มาระโก 1:14; โรม 1:1; 15:16; 1 เธสะโลนิกา 2:2, 8, 9; 1 เปโตร 4:17)[6] ที่เรียกกันเนื่องจากทางการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูนั้น พระยาห์เวห์ทรงให้โลกคืนดีกับพระองค์ (2    โครินธ์ 5:19-20)[7] พระเยซูทรงเป็นองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งพระสิริ (1 โครินธ์ 2:8)[8] ไม่ใช่เพราะการดำรงอยู่ก่อนของพระองค์ตามที่เชื่อกันโดยทั่วไป แต่เพราะโดยพระโลหิตของพระองค์ที่กางเขน มวลมนุษย์จึงได้รับการไถ่เพื่อพระเจ้า นั่นเป็นเพราะการเชื่อฟังของพระองค์จนกระทั่งถึงความตายบนกางเขน พระองค์จึงได้รับการยกขึ้นสูงให้รับพระสิริของพระเจ้า

 

เพราะฉะนั้นพระเจ้าจึงทรงยกพระองค์ขึ้นสูงสุด

และประทานพระนามเหนือนามทั้งหมดแก่พระองค์

เพื่อว่าเพราะพระนามของพระเยซูนั้น ทุกชีวิตในสวรรค์ บนแผ่นดินโลก

และใต้พื้นแผ่นดินโลก จะคุกเข่าลงกราบพระองค์

และเพื่อ​​ทุกลิ้นจะยอมรับว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์​​ผู้เป็นเจ้า

เป็นการถวายพระเกียรติสิริแด่พระเจ้าพระบิดา

จบ

 


[1] ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “รัศมี” และ “พระรัศมี” (ผู้แปล)

[2] พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษของพระคัมภีร์ใหม่และวรรณกรรมคริสเตียนอื่นๆในสมัยแรกๆ โดย Bauer, Danker, Arndt, Gingrich (ผู้แปล)

[3] Jesusism หรือ Jesuism คือความเชื่อว่าคำสอนของพระเยซูตามศาสนาของยิวแตกต่างจากคำสอนของเปาโล (ผู้แปล)

[4] มัทธิว 16:15-17 แล้วพระองค์ตรัสถามเขาทั้งหลายว่า “แล้วพวกท่านว่าเราเป็นใคร?” ซีโมนเปโตรทูลตอบว่า “พระองค์เป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่” พระเยซูตรัสกับเขาว่า “ซีโมนบุตรโยนาห์เอ๋ย ท่านก็เป็นสุข เพราะมนุษย์ไม่ได้เปิดเผยเรื่องนี้แก่ท่าน แต่พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผยให้ทราบ”

[5] The Holman Christian Standard Bible

[6] มาระโก 1:14 หลังจากยอห์นถูกจับแล้ว พระเยซูเสด็จมายังแคว้นกาลิลี ทรงประกาศข่าวประเสริฐของพระเจ้า

[7] 2 โครินธ์ 5:19 “คือพระเจ้าทรงให้โลกนี้คืนดีกับพระองค์โดยพระคริสต์ ไม่ทรงถือโทษในความผิดของพวกเขา และทรงมอบเรื่องราวการคืนดีนี้ให้เราประกาศ”

[8] 1 โครินธ์ 2:8 “ไม่มีผู้ครอบครองใดในยุคนี้รู้จักพระปัญญานี้ เพราะว่าถ้ารู้จักแล้ว จะไม่เอาองค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งพระสิริตรึงกางเขน”